วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ว่าด้วยคลาสสิค

ส่วนตัวก็ชอบฟังเพลงประกอบภาพยนตร์เป็นอย่างมากมักจะเก็บแผ่น Score OST (Original movie Soundtrack) ของหนังที่ตัวเองชอบไว้อยู่เสมอๆ คิดว่าวันนึง Score ของภาพยนตร์หลายๆ เรื่องก็คงจะกลายเป็นเพลงอมตะเหมือนกับเพลงคลาสสิคของคีตกวีชั้นเทพๆ เหล่านี้เหมือนกันแต่ต่างกันก็ตรงที่ Composer ของ Score ทั้งหลายดูภาพจากจอแล้วก็จึงแต่งออกมาได้ซึ่งด้อยชั้นกว่าคีตกวีชั้นเทพทั้งหลายตรงที่ว่า "ท่านเหล่านั้นดึงภาพออกมาจากใจแล้วเอาออกมาเขียนเป็นผลงานด้วยตัวเองไม่ต้องพึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพและนักตัดต่อแบบ Composer ของ score ทั้งหลาย" การที่จะทำแบบนี้ได้ต้องเค้นความสามารถมากกว่ากันหลายเท่านักในการสร้างสรรค์ผลงาน ดังนั้นงานของเหล่าคีตกวีเหล่านั้นจึงเป็นอมตะได้รับความนิยมมาถึงทุกวันนี้จนต้องเรียกกันว่าเป็นงานในระดับคลาสสิค

หลายท่านมักจะบอกว่าฟังเพลงคลาสสิคต้องหาบันไดมาด้วยเพราะต้องปีนบันไดฟัง คหสต. คิดว่ามีส่วนถูกนะครับแต่ก็ไม่เสมอไป จริงๆ การฟังเพลงคลาสสิคถ้าจะเอาแบบจริงจังแล้วละก็ยากมากเพราะถ้าอยากรู้เบื้องหน้าเบื้องหลังก็ต้องไปหาข้อมูลกันยกใหญ่ตอนนี้โชคดีที่มีอากู๋ช่วยทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ สืบค้นอะไรได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนแต่ก็ทำให้เด็กๆ มักง่ายกันเป็นส่วนใหญ่เพราะมีความรู้สึกว่าการไปไล่ตามหา hard copy อ่านในห้องสมุดหรือร้านหนังสือเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและเสียเวลานั่งหน้าจอแป๊บเดียวก็ได้ข้อมูลตั้งเยอะ อันส่งผลให้การค้นหาข้อมูลแบบเจาะลึกและอารมณ์ในการไล่ล่าตามหาข้อมูลจากผู้รู้ท่านต่างๆ เช่นอดีตนักดนตรี อาจารย์หรือว่าวาทยกรเก่งๆ นั้นหมดรสชาติลงไปเพราะคิดว่าเกินจำเป็นคลิกๆ แล้วก็ทำ C&P ออกมาเป็นรายงานส่งอาจารย์ก็พอให้จบมีปริญญาติดมือออกมาได้เหมือนกัน มาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงบทพูดในหนังเรื่อง Indiana Jones ภาคล่าสุดที่ว่า "You want to be a good archaeologist... you've got to get out of the library!" "ถ้าอยากจะเป็นนักโบราณคดีที่ดีแล้วละก็.. หัดออกจากห้องสมุด(มาดูโลกภายนอก)มั่ง"

การเสพเพลงแบบนี้ใช้ใจในการรับรู้รสชาติ หลายๆ ท่านมักจะหลับตาฟังกันเพราะทำให้ปิดตัวเองออกจากสิ่งรบกวนภายนอกให้ใจได้รับอารมณ์จากวาทยกรและวงที่กำลังเล่นอยู่ตรงหน้าให้ได้เต็มที่ ดังนั้นถ้าวาทยกรและผู้เล่นได้ทราบปูม(หรือว่าตำนานแบบที่คุณแทนบอก)ของบทเพลงชิ้นนั้นมาก่อนแบบเจาะลึกเช่นว่า

1.เพลงนั้นๆ เกี่ยวกับอะไร
2.เหตุการณ์รอบตัวในขณะที่คีตกวีท่านเขียนเพลงออกมานั้นเป็นอย่างไรง่ายๆ ก็คือ ทำไมถึงต้องแต่งเพลงนี้ในช่วงนั้น อารมณ์ประมาณไหน
3.เหตุการณ์โลกในช่วงนั้นเป็นแบบไหนและที่สำคัญ
4.งานชิ้นนี้ได้ใช้หรือว่ามีผลกับคนอื่นๆ ที่ได้ฟังอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น Die Walküre (1870) งานโอเปร่าชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของ Richard Wagner ที่ Francis Ford Coppola เลือกเอามาใช้กับฉากหนึ่งในหนังเรื่อง "Apocalypse Now" ในปี 1979 จนเป็นฉากคลาสสิคฉากหนึ่งของโลกภาพยนตร์จนตอนหลังกลายเป็นว่าถ้าได้ยินเสียงเพลงใน movement นี้ของ Wagner เมื่อไหร่ต้องนึกถึงเสียงเฮลิคอปเตอร์เรื่อยไปจนบางทีได้ถูกนำมาล้อในหนังเรื่องอื่นๆ อยู่เสมอๆ ตรงนี้ทำให้เห็นว่า movement ที่เรียกว่า Ride of the Valkyrie นี้ Wagner เองเห็นภาพพาหนะบินได้ของเทพโอดินตามตำนานของชาว scandinavian โบราณชัดเจนมากจนคนอื่นๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับพาหนะที่บินได้ในลักษณะเดียวกันในยุคหลังได้ดี เป็นต้น

ถ้าวาทยกรและนักดนตรีเข้าใจปูมของแต่ละเพลงได้ชัดเจนตรงกันแล้วถ้าใครได้มาฟังก็จะรับรู้ถึงอารมณ์ของผู้เล่นได้อย่างเต็มที่ แต่่ว่าจะลึกซึ้งเท่าไหร่ก็อยู่ที่ว่าวาทยกรและนักดนตรีเจาะลึกเข้าใจในปูมหลังของบทเพลงนั้นๆ แค่ไหน กระดาษโน๊ตชุดเดียวกันถ้าใน Herbert von Karajan กับคุณบัณฑิต อึ้งรังษีคุมวงคนฟังอาจจะได้อารมณ์ไม่เหมือนกันก็ได้

ทั้งหลายทั้งปวงที่มั่วๆ พิมพ์มานี้ก็อยากจะบอกว่าไม่ใช่เพียงแต่คลาสสิคเท่านั้นที่มีผลกับใจแม้เพลงประเภทอื่นก็เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็น Rock Jazz หมอลำหรือว่ากันตรึม ที่ต่างกันก็มีแต่ว่ามีผลอย่างไรกับใจเราซึ่งจะทำให้เราเกิดอารมณ์ร่วมกับบทเพลงนั้นๆ แบบไหนมากกว่า ดังนั้นแต่ละคนจะชอบไม่เหมือนกันว่ากันไม่ได้ เช่นผมชอบ Southern Rock คนอื่นอาจจะบอกว่า Speed หรือว่า Progressive เจ๋งกว่านาตรงนี้ก็ได้แต่ต้องมาลองฟังดู เปิดใจแชร์ประสบการณ์แบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กันและกันได้ฟังแบบนี้ถึงจะเรียกว่าแต่ละคนได้รับรู้รสเพลง"แบบบูรณาการ"

"ขอให้มีความสุขกับการฟังเพลงครับทุกท่าน" Smile

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม