วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ผ้าขี้ริ้ว

เมื่อคืนวานเดินตรวจ site ก่อสร้างอยู่ขากลับฝนกระหน่ำซะชุ่มฉ่ำหัวใจแต่อย่างน้อยก็พอช่วยทำให้ความร้อนอบอ้าวระหว่างวันเย็นลงได้ทันใจแล้วก็มีแถมสายฟ้าฟาดมาเป็นระยะๆ นึกแล้วก็อยากได้กล้องติดมือมาจริงๆ เพราะภาพสายฟ้าที่ฟาดลงมานั้นก็ดูสวยไปอีกแบบ พอเดินกลับมาถึงที่พักเห็นผ้าเช็ดเท้าเปียกฝนอยู่ก็นึกถึงเรื่องที่ผู้ใหญ่ท่านนึงได้เล่าให้ฟังว่ายายของท่านสอนไว้ว่าอย่างไรในตอนยังเด็ก ฟังแล้วก็นึกถึงภูมิปัญญาและปรัชญาในการมองโลกของผู้เฒ่าผู้ผ่านโลกมาเกือบศตวรรษว่าไม่ธรรมดาเลยจริงๆ

ท่านเล่าให้ฟังว่าเมื่อยังเด็กหลังเลิกเรียนถ้าไม่ได้ไปเล่นน้ำในแม่น้ำนครชัยศรีหรือไม่ได้ไปเล่นซนที่ไหนก็จะเข้าบ้านไปช่วยงานคุณยาย วันหนึ่งท่านขึ้นไปบนเรือนเจอคุณยายกำลังตำหมากอยู่ท่านก็เข้าไปนั่งรอรับคำสั่งว่าเย็นนี้จะให้ทำอะไรพอเห็นคุณนายหยิบหมากขึ้นมาเคี้ยวแล้วน้ำหมากเลอะตรงมุมปากท่านก็บอกคุณยายให้ได้ทราบว่าน้ำหมากเลอะ คุณยายก็หยิบเอาผ้าขี้ริ้วขึ้นมาเช็ดปากท่านก็บอกว่า "เช็ดได้ยังไงยาย นั่นผ้าขี้ริ้วนะ" ยายก็ตอบว่า"ผ้าขี้ริ้วข้าสะอาดกว่าชุดนักเรียนเอ็งซะอีก" ท่านก็บอกว่าตอนนั้นนึกในใจว่า "เออ จริงแฮะ ผ้าขี้ริ้วยายสะอาดกว่าเสื้อผ้าท่านจริงๆ นั่นแหละ" เพราะว่าคุณยายของท่านซักผ้าขี้ริ้วอยู่เป็นประจำทุกวันแถมซักบ่อยและต้องพิถีพิถันกว่าเสื้อผ้าซะอีกเพราะว่าผ้าขี้ริ้วเอาไว้เช็ดสิ่งสกปรกต่างๆ ดังนั้นถ้าไม่ซักให้สะอาดแล้วคราบต่างๆ ก็จะไปติดกับสิ่งที่เอามันไปเช็ด ท่านก็เลยสอนว่าบางทีคนเราถ้าจะช่วยทำให้คนอื่นสะอาดบางทีอาจจะต้องช่วยรับความสกปรกของเค้าไว้ด้วยพูดง่ายๆ ก็คือว่าบางเวลาก็ต้องยอมเปื้อนบ้างเหมือนกัน แต่ถ้าทำเช่นนั้นแล้วตัวเราเองก็ต้องยิ่งทำตัวให้สะอาดมากกว่าปกติอีกเพราะถ้าทิ้งไว้นานๆ คราบสกปรกภายนอกจะติดเข้าไปภายในแล้วมันจะขัดไม่ออก สุดท้ายก็จะกลายเป็นสิ่งสกปรกที่รอให้คนอื่นมาช่วยขัดแทนที่จะเป็นฝ่ายช่วยให้เค้าสะอาด

นอกจากนั้นก็มีอีกเรื่องที่ยายท่านสอนแล้วท่านก็จำมาจนกระทั่งวันนี้ถือเรื่องผ้าเช็ดเท้า เวลาที่ฝนตกคุณยายของท่านก็จะรีบไล่ท่านไปเก็บผ้าเช็ดเท้าก่อนด้วยความเป็นเด็กช่างสงสัยท่านก็เลยย้อนถามยายไปเช่นเคยว่า "ทำไมต้องเก็บผ้าเช็ดเท้าก่อนล่ะยาย ผ้าที่ตากไว้เป็นราวไม่ต้องไปเก็บก่อนเหรอ" ยายท่านก็เลยบอกว่า "ผ้าบนราวเก็บทีหลังได้เพราะว่าอย่างมากมันก็แค่เปียก แต่ว่าผ้าเช็ดเท้านี่ที่ต้องรีบเก็บก็เพราะบ้านเราเป็นสวน(อยู่อำเภอนครชัยศรี)ถ้าไม่รีบเก็บปล่อยให้มันเปียกอยู่อย่างนั้นถ้าคนเดินขึ้นเรือนแล้วเอาเท้าที่เปื้อนโคลนเช็ดผ้าเปียกๆ รับรองว่าคราบเท้าได้เปื้อนไปทั้งเรือน" อย่างนี้นี่เองเป็นเค้าเรียกว่าผู้ใหญ่ที่ละเอียด มองการณ์ไกลแล้วก็รอบคอบ มิน่าคนสมัยโบราณถึงสร้างบ้านแปงเมืองจนมีประเทศไทยนี้ให้เราอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะภูมิปัญญาแบบนี้นี่เอง

เมื่อเห็นผ้าเช็ดเท้าเปียกฝนทีไรต้องนึกถึงเรื่องนี้ทุกทีไปสิ ดีนะที่รอบบ้านสะอาดแถมเรายังใส่รองเท้าด้วยไม่อย่างนั้นเดินเข้าบ้านคงจะเละน่าดู แต่ยังไงก็ตามถ้าฝนจะตกควรอย่างยิ่งที่จะต้องเก็บผ้าเช็ดเท้าหรือผ้าอะไรก็ตามที่อยู่นอกบ้านเป็นการฝึกนิสัยกันไว้ดีกว่าแก้และรับผิดชอบต่อของใช้ในบ้านของเราด้วย ถ้าเราไม่อยู่ก็ต้องบอกให้คนใช้หรือว่าลูกหลานได้ทำแบบนี้ให้เป็นนิสัยแล้วอีกหน่อยด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้แหละที่จะช่วยให้ลูกหลานเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพได้ในอนาคต..

วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Confucius

มีหนังดีที่แนะนำว่าน่าจะหามาดูเรื่องนึงคือ Confucius หรือว่า"ขงจื้อ" ขงจื้อท่านเป็นนักปราชญ์ต้นแบบทางความคิดของชาวจีนและคนในประเทศในแถบเอเชียมาเป็นเวลาช้านาน โดยสรุปแล้วหลักต่างๆ ที่ท่านสอนไว้มีดังนี้

1. ศาสตร์สี่แขนง: วัฒนธรรม การเรียนรู้ ความจงรักภักดีและความซื่อสัตย์
2. แปดหลักการพื้นฐานในการเรียนรู้: สำรวจตรวจสอบ ขยายพรมแดนการเรียนรู้ จริงใจ แก้ไขดัดแปลงตน บ่มความรู้ ประพฤติตามกฎบ้านเมือง ดูแลประเทศ นำความสงบมาสู่โลก
3. ลำดับการเรียนรู้: พิธีกรรม ดนตรี ขี่ม้า ประวัติศาสตร์และคณิตศาสตร์
4. คุณธรรมทั้งสาม: ภูมิปัญญา เมตตากรุณาและความกล้้าหาญ
5. สี่ขั้นตอนหลักการสอน: ตั้งจิตใจไว้บนมรรควิธี ตั้งตนในคุณธรรม อาศัยหลักเมตตาเกื้อกูล สร้างสรรค์ศิลปะใหม่
6. สี่ลำดับการสอน: คุณธรรมและความประพฤติ ภาษาและการพูดจา รัฐบาลและกิจการบ้านเมือง และวรรณคดี
ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/ขงจื้อ

ซึ่งในหนังเล่าสรุปไว้ค่อนข้างดีเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของท่าน เมื่อดูจบแล้วก็ได้แง่คิดหลายๆ เรื่องอย่างหนึ่งที่แว่บเข้ามาก่อนเลยก็คือคำสอนของคุณครูของผมที่ว่า "ปัญญาขึ้นอยู่กับการเห็น ยิ่งเห็นมากปัญญาก็มากไปตามที่ตัวเองได้เห็น" เช่นเราได้เดินทางไปในที่ต่างๆ มากๆ สิ่งรอบตัวที่เราได้เห็นก็จะให้ปัญญากับเราในด้านต่างๆ เท่าที่เราจะมองออกได้ด้วยความรู้ที่เป็นต้นทุนเดิมในใจ ถ้าใครมีพื้นฐานความรู้ในตัวมากๆ ปัญญาก็เกิดได้มากถ้าได้เดินทางหรือได้ไปเห็นสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองไม่เคยเจอ แล้วความรู้ต่างกับปัญญาอย่างไรล่ะ? ความรู้ก็คือสิ่งที่เราได้เรียนมา ส่วนปัญญาคือสิ่งที่เราเข้าใจในเรื่องนั้นๆ

ขงจื้อท่านได้เดินทางไปตามแคว้นต่างๆ หลังจากที่่ถูกภัยทางการเมืองขับออกจากแคว้นหลู่ซึ่งในระหว่างนั้นก็บันทึกสิ่งต่างๆ ที่ท่านคิดได้เป็นจำนวนมาก และด้วยพื้นฐานความรู้เดิมที่ท่านมีทำให้ปัญญาของท่านแตกฉานมากกว่าในระหว่างที่ท่านรับราชการอยู่ในแคว้นหลู่ซะอีกเนื่องจากว่าไม่ต้องมีอะไรมากวนใจเพราะมีเรื่องอาหารและที่พักเท่านั้นที่ต้องกังวล นอกนั้นก็ใช้เวลาไปกับการเผยแพร่คำสอนไปเรื่อยๆ

สุดท้ายเมื่อบั้นปลายชีวิตขงจื้อก็กลับมายังแคว้นหลู่แผ่นดินที่เป็นปิตุภูมิและมาตุภูมิของท่านโดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสั่งสอนและบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ท่านได้รู้ออกมาเป็นตัวหนังสือ แล้วบันทึกเหล่านั้นก็ถูกส่งผ่านต่อมารุ่นต่อรุ่นในแผ่นดินจีนได้ถูกใช้เป็นหลักการวางรากฐานความคิดปรัชญาและการปกครองของแผ่นดินจนทำให้แผ่นดินจีนยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ด้วยหลักการเหล่านี้จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า"ขงจื้อ"เป็นนักคิดที่เก่งมากท่านหนึ่งของโลก..

วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นักพูด นักฟัง นักทำ

ครูของผมท่านสอนว่า "นักพูดเป็นผู้สร้างความหวัง นักฟังเป็นผู้สร้างความจำ นักทำเป็นผู้สร้างความจริง" ซึ่งในฐานะของผู้นำประเทศควรที่จะมีคุณสมบัติทั้งสามประการนี้ให้ครบแล้วนำมาใช้ตามจังหวะเวลาที่เหมาะสมถึงจะถือว่าเยี่ยม

ระหว่างเลือกตั้งหรือว่าในระหว่างที่รับตำแหน่งสมควรที่จะ"สร้างความหวัง"ให้เกิดกับประชาชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพราะในระหว่างการเลือกตั้งถือได้ว่าเป็นสุญญากาศทางการบริหารอย่างหนึ่งก็คงจะไม่ผิดเนื่องจากผู้ที่รักษาการจะทำอะไรก็คงไม่ถนัดนักเนื่องจากการบริหารตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งการตัดสินใจ ถ้าไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะตัดสินใจก็จะบริหารไม่ได้ ดังนั้นในระหว่างที่ไม่มีการตัดสินใจอะไรถ้าประชาชนไม่่มีอะไรให้หวังบ้างสภาวะต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมก็จะระส่ำระสาย ดังนั้นนโยบายต่างๆ ที่สามารถจะนำมาใช้ได้เพื่อให้เกิดความหวังก็สมควรที่จะประกาศให้ได้ทราบทั่วกัน มีพรรคการเมืองหนึ่งเคยพยายามหาวิธีสร้างความหวังในเชิงข้อมูลโดยทำวิจัยเรื่องความต้องการของประชาชนแล้วก็นำมาสรุปเป็นนโยบายสี่ห้าข้อที่เป็นไปเพื่อสร้างความหวังให้เกิดกับประชาชนในยุคที่กำลังใจของผู้คนกำลังอ่อนแล้วนำไปเสนอในระหว่างหาเสียง ปรากฎว่าได้ผลดีหลังจากการเลือกตั้งผ่านไปทำให้ได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้นส่งผลให้ได้เข้ามาบริหารบ้านเมืองในที่สุด ถือได้ว่าได้รับฟังความต้องการของประชาชนแล้วนำมาสร้างความหวังให้กับเค้าไปในขณะเดียวกัน

เมื่อ "รับฟังเสียงจากประชาชน"แล้วจำให้ขึ้นใจว่าเคยสัญญาอะไรกับเค้าไว้ จากนั้นก็มอบสิ่งนั้นกลับไปให้กับเขาเหล่านั้นให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่สมควรที่จะอยู่บริหารบ้านเมืองต่อไป เหมือนข่าวที่ได้อ่านคืนนี้จาก NY Times เกี่ยวกับเรื่องนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นที่ชื่อว่านาย Yakio Hatoyama คงจะลาออกเร็วๆ นี้เนื่องจากรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนไม่ได้รวมไปถึงไม่กล้าจะตัดสินใจในเรื่องต่างๆ อีกทั้งไม่อาจจะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าได้แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาที่ทุกประเทศในโลกประสบอยู่ก็ตาม นับว่าเป็นนายกคนที่สี่ในรอบสี่ปีที่ผ่านมาที่จะลาออกซึ่งจะว่าไปก็เป็นประเพณีของผู้นำประเทศนี้อย่างหนึ่งเหมือนกันที่ทำอย่างนี้

ในกรณีที่พรรคใดก็ตามสามารถจะผ่านสนามเลือกตั้งเพื่อเข้าไปบริหารประเทศหรือแม้แต่เป็นฝ่ายค้านก็สมควรที่จะทำให้สิ่งที่ตัวเองได้รับปากประชาชนไว้ให้ออกมาเป็นรูปธรรมหรือ"สร้างฝันนั้นให้เป็นจริง"เพื่อตอบแทนความไว้ใจของประชาชนที่มีแก่พรรค บางพรรรคที่ผ่านมาในอดีตให้เคยจัดทีมทำงานหลังจากทำวิจัยจนได้ความต้องการของประชาชนออกมาว่าจะทำสิ่งเหล่านี้ออกมาให้กับประชาชนได้อย่างไรก่อนที่จะประกาศเป็นนโยบาย หลักจากคิดวางแผนการทำงานเสร็จจนสามารถประกาศเป็นนโยบายออกมาแล้วทำให้ประชาชนพอใจเลือกเข้ามาบริหารประเทศก็สามารถจะทำสิ่งที่ได้สัญญากับประชาชนไว้โดยไม่ยากเย็นมากนักเพราะได้คิดเตรียมทีมไว้ก่อนแล้ว ไม่เหมือนกันหลายๆ พรรคในอดีตที่สร้างดีมานด์เทียมโดยโปรยความฝันไปทั้งบ้านทั้งเมืองแล้วก็ไม่สามารถจะทำสิ่งที่ได้โปรยเอาไว้นั้นให้ตกลงมาจากฟ้าได้ กลายเป็นเพียงแต่สายลมที่พัดมาแล้วก็ผ่านไป..

เลือกอะไรมาใช้ต้องเหมาะกับเวลา สถานการณ์และอารมณ์ของคนแล้วสิ่งนั้นจะสามารถแผลงฤทธิ์ออกมาได้อย่างเต็มที่..

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เสี้ยวหนึ่งของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ต่อเนื่องจากเมื่อวานที่ผู้มีพระคุณของผมได้ให้อ่านหนังสือของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งพระองค์เป็นโอรสลำดับที่ 57 ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ทรงมีคุณูปการหลายๆ ด้านแก่ประเทศไทยของเรา ที่เด่นมากๆ (เท่าที่ผมจำได้)ก็คือการก่อตั้ง"พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติและก็หอสมุดแห่งชาติ"ซึ่งสองสิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นฐานหลักในการสร้างแนวคิดของประชาชนในประเทศเพราะถ้าเรา"รับรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของเราได้เป็นอย่างดี จะสามารถทำให้เรามองอนาคตของชาติได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น" ซึ่งในตอนก่อตั้งนั้นผู้มีพระคุณของผมได้เมตตาเล่าว่าพระองค์(สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ)ทรงพระนิพนธ์หนังสือต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมากส่วนหนึ่งก็คือผลงานของข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงนำเอาประวัติคุณงามความดีที่ข้าราชการผู้นั้นได้ทำผ่านมาในระหว่างที่รับราชการอยู่จนได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ในระดับชั้นต่างๆ ซึ่งข้อมูลตรงนี้ทางราชการมีและสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงรวบรวมและทำเป็นหนังสือที่ระลึกให้ในวาระที่ข้าราชการผู้นั้นได้เสียชีวิต ซึ่งถ้าผมเข้าใจไม่ผิดสิ่งที่พระองค์ทรงทำนี้เป็นต้นแบบของการทำหนังสือที่ระลึกงานศพให้แก่ข้าราชการท่านต่างๆ ที่เสียชีวิตและน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่บุคคลทั่วไปได้นำมาเป็นต้นแบบการทำหนังสืองานศพในยุคต่อๆ มาตราบจนปัจจุบันนี้

ประวัติและผลงานของข้าราชการในยุคนั้นที่ถือได้ว่าเป็นยุคพลิกแผ่นดินไทยให้เป็นที่ยอมรับแก่นานาชาติ นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในยุคทองยุคหนึ่งของการสร้างชาติไทย และคุณูปการที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงนิพนธ์งานเขียนชิ้นต่างๆ ไว้นั้นที่ได้บรรจุอยู่ในหอสมุดแห่งชาติในตอนก่อตั้งก็คือว่าเป็นพงศาวดารในการสร้างชาติในยุคนี้ก็ว่าได้

ในส่วนของการเขียนของงานนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ นั้นหญิงเหลือ ซึ่งเป็นนามลำลอง(ชื่อเล่น)ของ หม่อมเจ้าพัฒนายุ ดิศกุล ธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เป็นผู้แต่งขึ้นตามคำบอกเล่าและบทบันทึกที่สมเด็จฯ ได้ทรงบันทึกไว้ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่หลายๆ ท่านที่ผมได้รู้จักก็ใช้วิธีนี้เช่นเดียวกัน เพราะว่ายิ่งเป็นผู้ใหญ่ถ้าไม่ได้อยู่ในสายงานวิชาการแล้วจะให้เขียนอะไรยาวๆ เป็นไปไม่ได้เลยดังนั้นจะใช้วิธีหา ghost writer เป็นผู้เขียนแทน ในกรณีของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ก็คือธิดาของพระองค์นั่นเอง ผู้ที่เป็นสายโลหิตหรือญาติถ้าได้เป็น ghost writer ให้ถือได้ว่างานเขียนนั้นๆ แทบจะไม่มีการแต่งเติมอะไรที่เกินจริงเพราะว่าได้มีความสัมพันธ์มีแนวคิดและได้ประสบกับเหตุการณ์บางเรื่องโดยตรง งานนิพนธ์สำคัญๆ อีกหลายๆ ชิ้นหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุลเป็นผู้นิพนธ์ให้สมเด็จฯ ท่านแต่ว่าส่วนมากหม่อมเจ้าท่านจะดูแลงานในส่วนอื่นมากกว่างานเขียน

งานนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมักจะเป็นงานเขียนก็เก็บข้อมูลที่เป็น"คุณงามความดี"เป็นหลักเรื่องอื่นๆ ที่ตรงกันข้ามหรือเรื่องเกี่ยวกับกรณีพิพาทต่างๆ จะไม่มีบันทึกเอาไว้ซึ่งถ้ามองในมุมของการเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ก็ถือได้ว่าไม่ครบมุมแต่ถ้ามองในกรณีของการฝึกคนให้มี positive thinking กับการฝึกให้คนจับดีกันแล้วนับว่าดีมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสะท้อนมุมมองในการมองโลกของสมเด็จฯ ท่านไว้ได้อย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงมองโลกในแง่ที่ดีมากๆ ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่สมเด็จฯ ท่านได้สร้างสิ่งที่่ดีงามต่างๆ มอบไว้ให้กับประเทศนี้เยอะแยะมากมาย เช่นการต่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ดังนั้นเรื่องราวที่พระองค์่ท่านทรงนิพนธ์ไว้ควรที่จะได้รับการศึกษาสืบต่อไปและประวัติในเรื่องต่างๆ ของพระองค์ท่านควรที่จะได้รับการจดจำไว้ตราบนานเท่านาน ที่สำคัญที่สุดพระองค์ท่าน "ฝึกคนเป็น"แม้จะต้องย้ายไปทำงานในหน่วยงานอื่นๆ ก็จะไม่เอาลูกน้องเดิมติดไปด้วยยกเว้นเลขาฯ เพื่อจะได้กันคำว่า"พวกเขาพวกเรา"ในที่ทำงานไว้ก่อน แสดงว่าท่านมั่นใจมากว่าสามารถสร้างพวกใหม่ในที่ทำงานใหม่ได้และที่สำคัญลูกน้องเดิมที่ได้ฝึกไว้ในที่ทำงานเดิมก็จะมีโอกาสโตด้วย

"คนฝึกคน"นี้เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับทุกๆ คนที่ยังทำงานอยู่ก็ว่าได้เพราะถ้าทำงานแล้วไม่รู้จักฝึกคนเพิ่มจะทำให้หนึ่ง"เหนื่อยทั้งชาติ" สอง"ไม่มีโอกาสได้พัฒนาตัวเองเพิ่มจากเดิม" ถ้าได้มีโอกาสก็คงจะนำมาพิมพ์ไว้เป็นบันทึกส่วนตัวของผมเองเพิ่มอีก.. อย่างน้อยคืนนี้ได้นึกถึงผู้ที่มีพระคุณต่อประเทศชาติอีกท่านนึงถือว่าก่อนนอนคืนนี้คุ้มแล้ว..

วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สรุปให้เป็น จับประเด็นให้ได้

เมื่อก่อนผมรู้สึกว่าตัวเองโง่มากๆ (ตอนนี้ก็ยังรู้สึกอยู่บ้างบางเวลา) เพราะว่าเห็นเพื่อนกันที่เรียนเก่งๆ เวลาที่เค้าอ่านหนังสือเรียนแล้วเอาปากกาไฮไลท์ขีดทับข้อความสำคัญกันเป็นแต่ผมเองเวลาเอาหนังสือเล่มเดียวกันมาดูหรือว่าจะเล่มไหนก็ตามแต่ผมไม่รู้เลยว่าจะขีดตรงไหน ด้วยเหตุนี้เองสมัยเรียนไม่เคยที่จะซื้อปากกาไฮไลท์เลยเพราะไม่รู้จะเอามาทำไม จะไปถามเพื่อนๆ ว่ารู้ได้ไงว่าต้องขีดตรงนั้นก็อายเกินกลัวเค้าจะว่าโง่ซึ่งการทำแบบนี้ยิ่งโง่เข้าไปใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าคงไม่ใช่เฉพาะผมหรอกที่รู้สึกแบบนี้คงจะมีคนอีกไม่ใช่น้อยในบ้านนี้เมืองนี้ที่คงจะคิดคล้ายๆ กัน

จวบจนวันนึงได้ฟังบรรยายจากผู้มีพระคุณท่านหนึ่งซึ่งผมถือว่าท่านพลิกชีวิตให้ตัวผม ท่านสอนผมหลายๆ เรื่องตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ทำให้ผมได้มีความรู้มากขึ้นโดยเฉพาะจุดอ่อนของตัวผมเองที่ท่านได้เมตตาชี้ให้เห็นแล้วก็บอกทางแก้ให้ด้วย จนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังคงได้รับความเมตตาจากท่านอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำด่าที่ท่านกรุณามอบให้อย่างท่วมท้น(บางทีก็ให้เยอะซะจนจุก) ท่านบอกว่าจะแก้ไขหรือว่าจะทำอะไรก็ตามต้องมองประเด็นในเรื่องนั้นๆ ให้ออกก่อนที่จะลงมือ เพราะถ้ามองประเด็นหลักไม่ออกแล้วก็จะหลงประเด็นได้ง่ายๆ แล้วจะพลาดได้ง่ายดายมากๆ โดยเร่ิมจากการทำความเข้าใจก่อนว่าเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องของใคร ซึ่งท่านก็ช่วยแนะว่าในโลกนี้มีไม่มีเกิน 4 เรื่องก็คือ

1. เรื่องของกู
2. เรื่องของมึง
3. เรื่องของมัน
4. เรื่องของใครไม่่รู้

เมื่อสรุปได้แล้วว่าเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องของใคร จากนั้นก็มาดูว่าประเด็นหลักในเรื่องนั้นอยู่ที่่ตรงไหน แล้วก็ค่อยมาคิดว่ากันต่อไปว่าควรจะดำเนินการอย่างไรให้พอเหมาะ ส่วนเรื่องที่ตัวผมเองไม่รู้ว่าควรจะขีดเส้นอะไรตรงไหนในหนังสือนั้นเป็นเพราะว่าผมจับประเด็นในเรื่องนั้นไม่ออกแต่ว่าก็พอฝึกกันได้โดยเริ่มจากให้"เขียนบันทึกประจำวัน" เพราะวันนึงมี 24 ชม. ตัดเวลานอนออกซะแปดก็เหลือสิบหก ถ้าเรารู้จักจดบันทึกสิ่งที่สำคัญในระหว่างวันเป็นนั่นก็แสดงว่าประเด็นสำคัญของแต่ละวันได้ การสรุปลงไปในหน้ากระดาษในบันทึกนั้นๆ เป็นการฝึกจับประเด็นเบื้องต้นในเรื่องที่เรารู้ดีที่สุดและเข้าใจได้ง่ายที่สุดคือเรื่องของตัวเรา เมื่อจับประเด็นและสรุปเรื่องของตัวเราได้แล้วจากนั้นจะไปสรุปหรือจับประเด็นเรื่องอื่นๆ ก็สามารถจะทำได้โดยง่าย อีกทั้งถ้าจะนำข้อสรุปนั้นไปขยายความออกไปอีกก็ไม่ยากและทำให้คนที่ได้รับฟังหรือได้อ่านสามารถเข้าใจได้ชัดเจนซึ่งตรงนี้เป็นสาระสำคัญของวิชาเรียงความย่อความท่ีท่านเองได้เรียนมาในสมัยก่อน

แต่จะเขียนสรุปบันทึกประจำวันได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับผู้ที่ไม่เคยเขียน เพราะจะว่าไปเรื่องของการเขียนนั้นเป็นทักษะการเรียนรู้ขั้นสูงของมนุษย์เราก็คงจะไม่ผิดนักเนื่องจากทักษะการเรียนรู้ของคนจะเริ่มจาก ฟัง พูด อ่านและเขียนไล่ไปตามลำดับ มาถึงตรงนี้ก็นึกถึงเรื่องการเรียนภาษาของบ้านเราขึ้นมาเพราะเคยได้ยินหลายๆ ท่านเคยบอกว่าทำไมคนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่องหรือไม่ก็บอกว่าการพูดภาษาอังกฤษนี้ยากจริงๆ ถ้าจะให้ตอบตามความเข้าใจของผมเองแล้วละก็การพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาใดๆ ในโลกก็ตามรวมถึงภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาแม่ของเรานั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ไปตามลำดับคือฟัง พูด อ่าน เขียน ที่พลาดกัน(ซึ่งผมเจอมากับตัวในสมัยก่อน)ก็คือเราสอนให้อ่านและก็เขียนก่อนที่จะรู้จักฟังและพูดซึ่งมันผิดธรรมชาติ ตั้งแต่เกิดมาผมเองก็ยังไม่เคยเห็นเด็กที่ได้อ่านเขียนได้ก่อนจะฟังและพูด แต่ว่าตอนนี้หลักสูตรตรงนี้มีการปรับปรุงกันแล้วโดยมีสถาบันที่สอนภาษาเยี่ยมๆ เกิดขึ้นมากมายทำให้เด็กรุ่นใหม่มีทักษะในเรื่องของภาษาดีขึึ้นมากๆ ตรงนี้ก็ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการที่ดีมากอย่างหนึ่งในวงการศึกษา

ย้อนกลับมาเข้าประเด็นเดิมของเราที่ค้างไว้ก็คือเรื่องของบันทึกประจำวัน ผู้มีพระคุณของผมท่านนี้ท่านก็ไล่ให้ผมไปฟังคนที่พูดเก่งๆ ใช้ภาษาได้ดีๆ ก่อนในเบื้องต้น จากนั้นก็ไล่ให้ผมไปหัดอ่านออกเสียงโดยต้องออกให้เต็มเสียง หัดพูดคำควบกล้ำให้ได้ชัดเจน เสียง ร. ล. ต้องให้ถูกต้อง แล้วก็หาหนังสือดีๆ ให้อ่านเช่นราชาธิราชและหนังสือของกรมสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพอีกหลายๆ เล่มเป็นต้น สุดท้ายก็ให้เขียนบันทึกไปให้ท่านอ่านแล้วท่านก็เมตตาแก้ไขและชี้แนะให้ด้วย ซึ่งขึ้นตอนเหล่านี้นี่่เองที่ผมเองได้หัดทำอยู่ประมาณห้าหกปีติดต่อกันทุกวันส่งผลให้พอมาถึงทุกวันนี้ที่ต้องมาทำหน้าที่สรุปและรายงานข้อมูลต่างๆ ภายในและภายนอกองค์กรให้ทางผู้บริหารฟังก็ทำให้ผมทำงานได้ง่ายขึ้นเยอะเลย อยากจะบอกว่าถ้าไม่มีท่านผมเองก็คงจะมาถึงตรงนี้ไม่ได้นับได้ว่าพระคุณที่ท่านให้ชาตินี้คงตอบแทนได้ไม่หมด

วันนี้ได้รับฟังข่าวอะไรเยอะแยะมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้นั่งดูอภิปรายในรัฐสภาแล้วก็ลองไปหาอ่านข้อมูลประกอบในอินเตอร์เน็ตเพราะอยากรู้ว่าชุมชมของคนในอินเตอร์เน็ตคิดกันอย่างไปรวมไปถึงได้พูดคุยกับคนหลายๆ คนจากหลายๆ สาขาอาชีพก็รู้สึกสะท้อนใจพอสมควรเนื่องจากว่า หลายๆ คนจับประเด็นไม่เป็น(เหมือนผมเลย) พอเจอนักพูดชั้นเยี่ยมเบี่ยงประเด็นหลักไปเพิ่มประเด็นใหม่แล้วก็หลงกันได้ง่ายๆ ยิ่งประกอบด้วยอคติในใจที่มีอยู่แล้วด้วยนี่ไปกันใหญ่ หลายๆ เรื่องทั้งๆ ที่ว่าตรรกะในการเทียบเคียงไม่ได้ยากอะไรแต่ว่าคิดตามไม่ได้(หรืออาจจะไม่อยากคิดเท่าไหร่)ต้องรอมีคนมาบอกก่อนว่าคุณควรจะคิดยังไงแล้วก็ฮือว่ากันไปตามนั้นจนสุดท้ายกลายสังคมไทยเป็นสังคมควายตื่นเพราะกลัวเค้าจะว่าโง่ ต้องมีความคิดเห็นของคนที่เราเชื่อว่าเป็นนักวิชาการมาบอกให้เราคิดอย่างนั้นอย่างนี้ถึงจะดูว่าเราฉลาด คนในสังคมถูก"บิดข้อมูลเบี่ยงประเด็นให้จับกับความหรือติดกับคำจนหลงหลักการ"หรือแม้แต่มองข้ามสาระสำคัญโดยเฉพาะสามัญสำนักของมนุษย์ในเบื้องต้นไปในที่สุด

ก็ได้แต่แอบหวังลึกๆ ในใจว่าการเรียนการสอนให้เด็กไทยรู้จัก "สรุปให้เป็นจับประเด็นให้ได้" จะได้รับการพัฒนาและเอาใจใส่จากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเหมือนกับการเรียนการสอนภาษาที่ดีขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้ พอถึงวันนั้นบ้านเมืองเราคงจะยิ่งกว่าเสือติดปีกเพราะคุณภาพสมองของคนไทยบอกได้เลยว่าไม่แพ้ใครในโลก..

ผู้ติดตาม