วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

[Review] WEISS DAC202






สืบเนื่องมาจากความสงสัยส่วนตัวแท้ๆ ที่ว่า DAC รุ่นใหม่ล่าสุดของ weiss ซึ่งรุ่นพี่(ออกมาก่อน)คือ wiess Minerva ได้ไปสร้างชื่อที่เวป computeraudiophile ให้ได้กล่าวขานว่าเป็น DAC ที่ดีที่สุดในโลกมาแล้วว่าเสียงจะดีขนาดไหนเชียว เมื่อเกิดความสงสัยก็ไม่คิดว่าจะรอให้ใครมาบอกเพราะ"สิบปากว่าไม่เท่าตาดู สิบตาดูไม่เท่าสองหูฟังเองในเรื่องของเครื่องเสียง" ก็เลยต้องรบกวนท่านผู้ที่คุณก็รู้ว่าใครอีกครั้งนึงเพื่อขอหยิบยืม DAC ตัวเล็กๆ ขนาดพอดีมือนี้มาลองฟังดู ท่านผู้ใจดีท่านเดิมก็ดีใจหายเช่นเคยส่งมาให้ได้ลองฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ทางด้านเสียงเพิ่มให้กับคลังเก็บส่วนตัวอีกหนึ่งรายการก็ขอขอบคุณมา ณ. ที่นี้อีกครั้งครับ

ส่วนตัวเองเชื่อว่าสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้แปลงสัญญาณดิจิตอลมาเป็นอนาล็อคหรือที่เรียกกันว่า DAC(Digital to Analog Converter) นั้นในระดับราคาสูงๆ คงจะไม่แตกต่างกันเท่าไหร่มากนักยกเว้นเรื่องของรายละเอียดที่เพิ่มขึ้นตามค่า sampling rate ที่หลังๆ มาอัพกันขึ้นไปน่ากลัวมากๆ โดยส่วนตัวแล้วไม่ค่อยชอบเสียงของไฟล์ความละเอียดสูงๆ มากเท่าไหร่เนื่องจากค่อนข้างจะติดใจในเสียงสไตล์เก่าๆ แบบอนาล็อคที่ฟังแล้วมันอินกับเพลงได้ง่ายกว่าเสียงในสไตล์รุ่นใหม่ที่ฟังแล้วคมชัดไม่มีตกหล่นเหมือนดู TV LED Hidef เทียบกับดูหนังที่ฉายออกมาโดยตรงผ่านแผ่นฟิล์มอย่างไรอย่างนั้น แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไปถ้าไม่เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาก็คงจะไม่ใช่ยิ่งมาทุกวันนี้ก็ต้องยอมรับว่าการฟังเพลงในรูปแบบของ music server ได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของคนรุ่นใหม่อย่างเต็มตัวแล้ว ผมเชื่ออย่่างนั้นนะ(เอาตัวเองเป็นมาตรฐาน)



อุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบ:
Source: iMac 27" รุ่นโบราณแต่ก็ถือว่าทำงานได้เยี่ยมอยู่ ต่อผ่าน port firewire 800 อย่างเดียวเท่านั้น เล่นกับ Amarra+iTunes
Audio interface: Metric Halo ULN-2 รุ่นเก่าที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากคนๆ นึงที่ชื่อว่า Kent poon
สาย Firewire: Audioquest รุ่นกลางๆ ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่าทำหน้าที่ได้ไม่บกพร่องเลย
สาย DIGITAL : AES/EBU ของ ซิ่งแหลก( Xindak ) รุ่น บ่อมิไก๊(เจ้าของสอบถามว่าจะเอาจริงหรือตอนที่สั่งซื้อเพราะว่ามันแพงคนไม่ซื้อกัน เค้าว่างั้นนะ) โมหัวท้ายเป็น furutech rhodium, Oyaide จากร้านบอมบอม (ประกอบได้เยี่ยมมากว่ากันว่าเสียงกินสายราคาแพงกว่าหลายเท่าได้)
amp&cans: Woo Audio Maxxest, STAX O2 MkI, L3K, HD800, ED8
DAC: weiss DAC202, Berkeley Audio Design Alpha DAC (BADA)



ความประทับใจแรก: เสียงของ weiss DAC202 นั้นสดชัดเจนแล้วก็สะอาดมากๆ เท่าที่จำได้คิดว่าสะอาดมากกว่า DAC ทุกตัวที่เคยได้ลองฟังมาก็ว่าได้ครับ บุคลิคเสียงออกสดเร็วไดนามิคดีเช่นเดียวกับ DAC รุ่นใหม่ๆ ทั่วไป ที่สำคัญที่สุด wow factor ของ DAC ตัวนี้อยู่ที่ความเป็นสามมิติของเวทีเสียง



การเชื่อมต่อ: DAC202 เป็น DAC ที่ให้ช่องทางเชื่อมต่อมาทางด้านหลังเครื่องได้ครบครันมากๆ ตัวนึงในท้องตลาดเช่นเดียวกับรุ่นพี่ที่เคยสร้างชื่อไว้คือ ในส่วนของทาง DIGITAL ให้มาทั้ง Firewire, AES/EBU in/out(ใช้เป็น audio interface ได้ทันที), SPDIF Coax, แล้วก็ขั้วเชื่อมต่อสัญญาณนาฬิกาจากภายนอก ส่วนทางฝั่ง Analog ก็ให้ขั้วต่อ out แบบ XLR และก็ RCA มาให้ได้เลือกใช้ตามอุปกรณ์ที่เรามีอยู่แล้ว

ข้อด้อยในส่วนของการเชื่อมต่อคือตำแหน่งของขั้ว firewire กับขั้ว IEC ไฟขาเข้านั้นอยู่ชิดกันมากๆ ถ้าใครใช้สาย firewire กับสายไฟอย่างดีๆ ที่มีหัวค่อนข้างใหญ่จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน อาจจะติดคงจะต้องเลือกตัวใดตัวนึงเอาไว้หรือไม่ก็เอาหัว IEC มาโมดิฟายซึ่งก็สามารถทำได้ถ้าต้องการ





ความเป็นดนตรี รายละเอียด บรรยากาศ มิติและเวทีเสียง: ตรงนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นอีกอย่างของ DAC ตัวนี้ก็ว่าได้เพราะเนื่องจากว่าส่วนตัวใช้ BADA อยู่ซึ่งก็นับได้ว่าเป็น DAC ตัวนึงที่ให้ตำแหน่งของเวทีเสียงค่อนข้างจะดีมากๆ อยู่แล้วแต่เนื่องจากว่าการทดสอบในครั้งนี้นั้นเน้นตรงที่ต่อกับ computer เป็นหลักดังนั้นส่วนหนึ่งซึ่งมีผลมากแบบสุดๆ ก็คือ audio interface ในที่นี้ก็คือ ULN-2 ซึ่งส่งผลเป็นอย่างมากในเรื่องของเสียงโดยรวมๆ ของระบบ

เมื่อลองเปิดเพลง classical เท่าที่มีอยู่กับสกอร์ประกอบภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่เด่นมากๆ คือ Gladiator ของ Erich Kunzel: Cincinnati Pops Orchestra ที่เอาไว้ทดสอบเรื่องของเวทีเสียง มิติและรายละเอียดได้ค่อนข้างดี เมื่อค่อ DAC202 เข้าไปในระบบแล้วเปิดเพลงนี้ขึ้นมาครั้งแรกเสียงที่ได้นี่ทำเอาแปลกใจไปเลยเพราะเรื่องจากว่าจาก BADA ที่เคยคิดว่าจำลองเวทีมาดีมากๆ พอมาเจอ DAC202 แล้วต้องบอกว่าแพ้ไปเลยก็ว่าได้ คหสต. คิดว่าเนื่องจากว่า DAC202 ไม่ต้องต่อผ่าน interface สามารถจะต่อตรงเข้ากับ iMac ได้เลยทันที ถ้าไม่นับเรื่องของความสะดวกแล้วขั้นตอนการเชื่อมต่อที่สั้นทำให้ได้เปรียบตัวอื่นที่ต้องต่อผ่านตัวกลางอยู่พอสมควรเลยทีเดียว ตรงนั้นเป็นจุดเด่นมากๆ ของ DAC202 ซึ่งก็คิดว่า DAC ตัวนี้ทำออกมาเพื่อสาวกลุงจ็อบแท้ๆ เลยทีเดียวเนื่องจากว่าใช้ firewire ซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของ Mac มาเป็นตัวเชื่อมต่อหลัก(จริงๆ ยี่ห้ออื่นก็มีเหมือนกันแต่เนื่องจากว่าผู้เขียนใช้แต่ Mac ก็เลยขอแอบโฆษณาหน่อย)

เวทีเสียงของ DAC202 ให้ตำแหน่งที่แม่นยำไม่คลุมเครือคือเรียกได้ว่าไม่ต้องเพ่งฟังก็สามารถบอกได้เลยว่าเครื่องดนตรีชิ้นไหนอยู่ตรงไหน ทำให้สามารถดื่มด่ำไปกับบทเพลงไปได้ในขณะเดียวกันก็นำเสนอความถูกต้องของตำแหน่งเครื่องดนตรีได้ไม่มีคลาดเคลื่อน เนื่องจากว่าฟังจากหูฟังทำให้ตำแหน่งเวที(Head stage)ไม่เป็นไปในแนบระนาบตรงอยู่ด้านหน้าเหมือนฟังจากลำโพงซึ่งสามารถจะนำเสนอเรื่องของเวทีได้ชัดเจนมากกว่าที่เรียกว่า Sound Stage แต่ออกจะโค้งคล้ายๆ กับวงกลมไปรอบหัวทำให้หูฟังบอกเรื่องของเวทีได้ค่อนข้างยากแต่จากประสบการณ์ที่มีอยู่นิดหน่อยไม่อยากจะคิดเลยว่าถ้าเอาไปใช้กับชุดลำโพงเวทีเสียงจะออกมาสมจริงได้เพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้กับลำโพงตั้งพื้น

DAC202 ให้เสียงค่อนข้างจะ laid back ถอยไปข้างหลังนิดๆ ทำให้ฟังแล้วค่อนข้างผ่อนคลายไม่ดุดันเหมือนรุ่นพี่คือ weiss minerva แม้จะฟังจากหูฟัง DAC ตัวนี้ก็นำเสนอเรื่องของเวทีได้ดีมาก มิติหน้าหลังเป็นสามมิติเป็นชั้นๆ ไม่มีบังกันแม้แต่น้อยเพราะความสะอาดของเสียงที่ให้มา ยิ่งมาฟังกับเพลงที่อัดมาแบบสดๆ หรือว่าเพลงในรูปแบบของการแสดงสดด้วยแล้วทำให้บรรยากาศที่นำเสนอออกมานั้นสมจริง เสียงของเครื่องเป่าทองเหลืองชนิดต่างๆ ที่แผดขึ้นมาพร้อมๆ กันนั้้นจะให้บรรยายออกมาคงลำบาก แต่บอกได้เพียงแต่ว่าความเป็นดนตรีมีสูงมากทำให้เสียงที่ออกมามีลีลาเหมือนผ้าแพรพริ้วเมื่อโดนลมคือมีหนักเบาสูงตำ่อยู่ในที แต่ยังไงก็ตามไม่ใช่บุคลิกของเสียงแบบอนาล็อคแน่นอนเป็นความเป็นดนตรีในรูปแบบของอุปกรณ์ดิจิตอลแต่ก็ถือว่าดีกว่ารุ่นพี่เยอะมากเพราะเสียงของ Minerva ค่อนข้างแข็งไปนิดแต่ตัวนี้ไม่รู้สึกว่าเสียงแข็งเลย แต่ยังไงก็ตามเสียงไม่เหมือนฟังจากแหล่งโปรแกรมที่เป็นอนาล็อคคือแผ่นเสียงเมื่อฟังเพลงเดียวกัน

อีกอย่างที่ค่อนข้างเยี่ยมก็คือเรื่องของรายละเอียดเมื่อฟังเพลงที่อัดมาแบบความละเอียดสูงๆ HRx นั้นมันสุดยอดจริงๆ ต้องลองฟังเลยละครับ(ถ้ามีโอกาส) เพราะถือว่าเป็นการเปิดหูรับฟังไฟล์เพลงรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังจะเป็นมาตรฐานในอนาคต





ความถี่ต่ำ: เรื่องนี้สำหรับวัยรุ่นแล้วปริมาณมาเป็นอันดับแรกส่วนผู้สูงอายุนั้นแม้วาปริมาณจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องการมากนักแต่ว่าก็ต้องมีอยู่อีกเช่นกันเพียงแต่ความรู้ว่าความต้องการคุณภาพมีมากกว่าแค่นั้นเอง แล้วความถี่ต่ำแบบไหนที่มีคุณภาพล่ะหลายๆ ท่านอาจจะถามซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วผมเองก็อยากรู้คำตอบเหมือนกัน หุหุ

จากประสบการณ์ส่วนตัวเบสที่มีคุณภาพมากๆ คือเสียงฟ้าร้องกับฟ้าผ่า เสียงฟ้าร้องให้ความถี่ต่ำช่วงกลางๆ ได้ดีให้น้ำหนักมีแรงปะทะที่เยี่ยม เสียงฟ้าร้องเป็นคอนเซ็ปของความถี่ต่ำไล่จากต่ำมากๆ ไปต่ำช่วงกลางจนถึงปลายเสียงในช่วงบนๆ ในตอนที่กำลังคำรามเบาๆ เสียงความถี่ต่ำของฟ้าร้องจะไม่นิ่งเพราะจะมีแรงสั่นสะเทือนตามมาเป็นระลอกหนักเบา ส่วนฟ้าผ่าเป็นเรื่องของไดนามิคและความฉับไวบวกกับแรงปะทะที่หนักแน่นมากๆ ที่เกิดในช่วงเวลาสั้นๆ คหสต. เสียงเบสคุณภาพคือแบบนี้แหละ

อาจจะดูเป็นอุดมคติมากไปหน่อยแต่ว่าเป็นข้อสรุปเท่าที่ผมเองพยายามหาคำตอบออกมาเท่าที่จะคิดได้(เอาไว้บอกตัวเองเท่านั้นครับเพราะไม่อย่างนั้นจะไม่มีมาตรฐานอ้างอิง เพราะเชื่อว่าทุกเรื่องต้องมีเหตุผลรองรับ) เลยตั้งเป็นหลักการส่วนตัวเอาไว้บอกตัวเองว่า เบสคุณภาพต้อง

1. หนัก: แรงปะทะดี(impact) หนัก
2. แน่น: ไดนามิค ความเร็วต้องได้ไม่ช้าหรือเร็วเกิน
3. มีรายละเอียด: มีหนักเบาพร้อมแรงสั่นสะเทือนหรือหางเสียงของเบส(bass resonant)
4. ลึก: ลงได้ลึกให้ความรู้สึกได้

สำหรับ DAC202 นั้นให้สิ่งที่เรียกว่าเบสที่มีคุณภาพ(ตาม คหสต. ผม)ได้ค่อนข้างดี จากการฟังเพลงและแผ่นทดสอบหลายๆ แทร็คพบว่า DAC202 ให้รายละเอียดของเบสได้ดีมาก เสียงจากแหล่งกำเนิดต่างๆ กันเช่นเครื่องเคาะคนละชนิดหรือว่าเสียงจากเครื่องดนตรีที่ให้ความถี่ต่ำออกมานั้นมีรายละเอียดให้ได้รับรู้ถึงแรงกระเพื่อมของแผ่นหนังหรือว่าจากลมที่ผ่านอุปกรณ์ออกมาได้เลย แม้ว่าจะประโคมขึ้นมาพร้อมกันเราก็สามารถแยกแยะได้ว่าชิ้นไหนเป็นชิ้นไหน (gladiator OST: Erich Kunzel: Cincinnati Pops Orchestra, Way down deep: jennifer warnes, Why so seriuos?: Hans zimmer, Holiday: greenday, In my life: TAS The Absolute Sound 2008, Mint interluse: Etc., กับไฟล์ HRx อีกหลายๆ แทร็ค) หลายๆ แทร็คได้รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนเล็กๆ ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ในจังหวะที่ต้องการเน้นอารมณ์ก็ให้ความเร็วและแรงปะทะของเบสได้เยี่ยมอีกเช่นกัน





เสียงกลาง: โดยส่วนใหญ่แล้วเพลงที่ฟังๆ กันไม่ว่าจะเป็นเพลงในแนวไหนเสียงที่เป็นพระเอก(อาจจะเป็นนางเอกด้วยสำหรับบางแนว)ก็คือเสียงในย่านกลางๆ นี้เอง ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้อง เครื่องสาย หรือเสียงเครื่องเคาะประเภทต่างๆ ชุดเครื่องเสียงชุดใดที่นำเสนอเสียงในย่านนี้ออกมาได้ดีก็แทบจะเรียกได้ว่าจะสามารถซืื้อใจนักเลงเครื่องเสียงได้ตั้งแต่นาทีแรกๆ ที่ได้ฟังเลยก็คงจะไม่ผิดนัก

ในกรณีของ DAC202 ตัวนี้ก็น่าจะอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยก็ว่าได้ คหสต. เมื่อได้ฟัง weiss minerva ครั้งแรกที่ไม่ค่อยจะประทับใจมากนักแม้ว่าเสียงจะออกมาดีมากๆ ก็ตามก็คือความถี่ย่านกลางๆ ค่อนขึ้นไปสูงของ minerva ที่ออก digital แท้มากไปนิดนึงทำให้เสียงมีติดกร้าวอยู่บ้าง แต่ว่าก็คงจะได้ปรับการพัฒนามาแล้วในตัวของ DAC202 ทำให้พอฟังแล้วไม่รู้สึกว่ามีความกร้าวอยู่ในน้ำเสียงแต่ตรงข้ามฟังแล้วค่อนข้างจะผ่อนคลายดีใช้ได้เลย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความ laid back ของเวทีด้วยแต่ว่าฟังแล้วได้อารมณ์สดชื่นมากกว่าผ่อนคลาย

แม้ว่าบุคลิกโดยรวมๆ แล้ว DAC202 จะให้เสียงที่ค่อนข้าง flat ตามแบบของอุปกรณ์ในสตูดิโอแต่ก็เป็น flat ที่ไม่แห้งกร้านมีความสดชัดน่าฟังอยู่ ทำให้ฟังเพลงร้องได้ค่อนข้างดี(เด่นไปทางนักร้องหญิงมากกว่านักร้องชาย) หลายๆ ท่านที่หลงเสียงนางครวญอยู่ถ้าได้ฟัง DAC ตัวนี้น่าจะชอบได้ไม่ยากยิ่งถ้าได้จับคู่กับแอมป์หลอดเพื่อเพิ่มความเนียนและต่อเนืองให้เนื้อเสียงด้วยแล้วละก็รับรองได้่ว่าได้เข้าไปอยู่ในห้องฟังบ้านใดก็เปลี่ยนบ้านนั้นให้เป็น auditorium เล็กๆ ได้ในทันใด แม้จะเปิด stand up comedy(Dane Cook: Retaliation) ฟังก็รู้สึกอินไปกับบรรยากาศได้ดีมากๆ เช่นกันกับการฟังเพลงทั่วไป

ธรรมดาถ้าฟัง DAC หรือว่า audio interface ที่ให้เสียงได้ค่อนข้าง flat ส่วนตัวจะรู้สึกว่าเสียงร้องจะออกกรอบๆ (crispy) เพราะความชัดของเนื้อเสียง แต่กับ DAC ตัวนี้ไม่รู้สึกแบบนั้นซึ่งก็บอกไม่ถูกเหมือนกัน เสียงร้องชัดเจนดีแม้จะไม่ได้อารมณ์เนียนมากๆ แบบแผ่นเสียงแต่ก็ถือว่าให้ความเนียนได้ระดับนึง อาจจะเรียกว่าเป็น"ความเนียนแบบดิจิตอล"ก็คงจะได้ครับ



ความถี่สูง: การตอบสนองความถี่สูงของอุปกรณ์ดิจิตอลนี่เป็นจุดที่สามารถทำให้ตกม้ากันตายมาหลายๆ ต่อหลายรุ่นแล้ว โดยส่วนมากถ้าได้ฟังเครื่องเสียงซักชุดนึงเสียงที่จะสะดุดหูได้ง่ายกว่าเสียงอื่นๆ คือเสียงสูงเนื่องจากฟังแล้วจะเด่นนำความถี่อื่นออกมาค่อนข้างมากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสะดุดหูแล้วจะดีเสมอไป

มีเครื่องเล่นบางยี่ห้อที่เคยได้ลองฟังมาให้เสียงสูงที่ค่อนข้างสดชัดมากๆ หลายๆ ท่านฟังทีแรกตามงานแสดงหรือว่าในห้องโชว์เครื่องตามร้านต่างๆ แล้วจะรู้สึกชอบขึ้นมาทันที แต่ว่าจริงๆ แล้วเสียงที่สดชัดสะดุดหูนั้นอาจจะมากไปนิดถ้าฟังไปในระยะเวลาช่วงนึงแล้วอาจจะรู้สึกล้าหูได้ ซึ่งถ้าล้าแล้วยังฟังติดต่อไปอีกก็จะทำให้เครียดมากกว่าผ่อนคลายตรงนี้เป็นข้อความระวังอย่างนึงในการเลือกซื้อ ไม่ต้องรีบร้อนยิ่งถ้าฟังแล้วโดนมากๆ ให้ฟังไปอีกซักพักนึงดูว่ายังรู้สึกโอเคอยู่หรือเปล่า ถ้ายังโอเคอยู่ก็ถือว่าใช้ได้ แต่ถ้ารู้สึกล้าหูแล้วละก็ขอให้รู้ว่าอุปกรณ์ตัวนั้นหรือชิ้นนั้นอาจจะไม่ใช่ตัวที่เรากำลังมองหาอยู่

ความถี่สูงของ DAC เป็นจุดที่ทำให้ออกมาดีได้ค่อนข้างยากถึงแม้ว่าจะมีการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ดีๆ มาประกอบเข้าไปก็ตามเพราะข้อมูลที่มีแต่ 0 กับ 1 จะทำให้ออกมาเป็นกราฟที่เป็นเส้นแหลมๆ ขึ้นลงๆ ในช่วงความกว้าง(ความยาวคลื่น)ถี่ๆ จะให้ออกมาฟังแล้วพริ้วเหมือนร่องของแผ่นไวนีลก็คงจะไม่ง่ายนัก ดังนั้นส่วนใหญ่ไม่ว่าจะฟังเพลงจาก DAC ตัวไหนก็ตามความถี่สูงจะติดแข็งอยู่บ้างมากน้อยอยู่ที่การออกแบบ เมื่อได้ลองเอา DAC202 มาฟังก็คิดว่าก็คงจะคล้ายๆ DAC ตัวอื่นๆ ซึ่งก็คิดไม่ผิดนักแต่ว่าในความเหมือนก็มีความต่างอยู่

ที่ว่าต่างกันคือลีลาในการนำเสนอความถี่สูงออกมาให้มีความหนักเบาอยู่ในเนื้อเสียงอย่างที่ได้เคยกล่าวไว้ในตอนต้นในส่วนของความถี่ต่ำ จริงๆ แล้วจุดเด่นอีกอย่างของ DAC ตัวนี้คือลีลาในการนำเสนอนั่นเอง ทำให้เวลาฟังเพลงแล้วได้อารมณ์เสียงไม่ตายรู้สึกว่าเพลงแต่ละเพลงที่เปิดมันมีวิญญาณอยู่แม้จะไม่เท่าฟังจากแผ่นไวนีลก็ตาม แต่ก็ถือว่าไม่เคยได้ยิน DAC ตัวไหนให้ลีลาในเพลงได้แบบตัวนี้ ยกตัวอย่างเสียงกระดิ่งในช่วงท้ายๆ ของเพลง Gladiator เหมือนกับว่าได้ฟังเสียงกระดิ่งจริงๆ มีความกังวานอยู่หลายระดับตั้งแต่เสียงหลักและโน๊ตที่เกิดจากเรโซแนนท์ของเสียง อีกทั้งระยะใกล้ไกลและน้ำหนักหนักเบาในการเคาะซึ่งตรงนี้แม้พยายามจะเปลี่ยนสายหรือสลับอุปกรณ์ใดๆ (เท่าที่พอมี)ให้กับ DAC ที่ใช้อยู่เป็นประจำอยู่ก็ให้ได้ไม่เท่าแม้ว่าเสียงจะไม่ห่างกันมากแต่ยังไงก็ให้ได้ไม่เท่า ยิ่งฟังแทร็ค Canon in D จากแผ่น The Bose Special Edition Lifestyle Music System CD แล้วจะชัดเจนมากๆ ถือว่าแทร็คนี้เอาไว้ทดสอบรายละเอียดของความถี่สูงได้ดีมากๆ แทร็คนึง เพราะว่าตอนที่เครื่องเคาะชิ้นใหม่ดังขึ้นถ้าเรายังสามารถได้ยินเรโซแนนท์ของเสียงโน๊ตเดิมอยู่ได้ไม่มีบังกันแล้วค่อยๆ เบาลงไปแต่เสียงโน๊ตหลังก็ยังชัดเจนพูดง่ายๆ ก็คือให้"เสียงแหลมออกมาพริ้ว"นั่นเองจึงจะถือว่าใช้ได้





เทียบกับ BADA: ตรงนี้ค่อนข้างลำบากนิดนึงในการที่จะเขียนบรรยายความรู้สึกออกมาเพราะถ้าจะว่าไปข้อมูลทางเทคนิคของทั้งคู่นั้้นแทบจะไม่ต่างกันดังนั้นตรงนี้คงจะอยู่ที่ความชอบส่วนตัวด้วยส่วนหนึ่ง ตรงนี้เองที่คุยกันค่อนข้างยากในวงการเครื่องเสียงเพราะมีเรื่องของความชอบส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแต่ยังไงก็ตามของดีไม่ว่าใครฟังแล้วถ้ามันดีจริงก็ต้องออกมาดีถูกใจทุกคนที่ได้ฟัง ในกรณีของ DAC ทั้งสองตัวนี้ก็เช่นกันต่างก็มีดีด้วยกันทั้งคู่ในระดับราคาของตัวมัน BADA นั้นก็ถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของ DAC ในระดับราคาของมัน DAC202 ก็ถือว่ายืนอยู่ในแถวหน้าในระดับของมัอีกเช่นกัน แต่ว่าพอนำมาเทียบกับแล้ว(โอกาสที่จะได้เอามาฟังเทียบกันได้นี่แทบจะเรียกว่ายากมากๆ เพราะของในระดับนี้การที่เจ้าของจะเอามาให้คนอื่นได้ลองนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ ต้องขอขอบคุณท่านเจ้าของมาอีกครั้งหนึ่ง)ทำให้พอรู้สึกความแตกต่างได้พอสมควรเลยทีเดียว

โดยสรุปแล้วถ้าใช้ Mac เป็นต้นทางโดยต่อผ่าน firewire แล้วละก็ DAC202 ใช้งานได้สะดวกแล้วก็ให้เสียงที่ดีมากๆ ในตัวของมันเองตรงนี้ BADA ซึ่งต้องมี interface คั่นอยู่สู้ไม่ได้เลยในทุกด้าน แต่ถ้ามี transport แยกต่างหากแล้วเทียบกับโดยผ่านขั้วต่อ digital แบบ AES/EBU หรือว่า SPDIF ก็ตาม คหสต. เสียงแทบไม่ต่างกันเลยแม้ว่า DAC202 จะได้เปรียบเรื่องของความสะอาดในเนื้อเสียงอยู่บ้างแต่ว่าถ้าฟังแบบพิเคราะห์แล้วไม่ต่างกัน ดังนั้นถ้าจะเลือกซื้อ DAC ซักตัวการเชื่อมต่อเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องนำมาคิดให้ดีว่าเราใช้งานแบบไหนมากกว่ากัน ถ้าตอบโจทย์ตรงนี้ได้แล้วจะเลือก DAC มาใช้เพิ่มในระบบอีกตัวนึงก็จะช่วยทำให้เลือกได้ง่ายขึ้นและตอบสนองสิ่งที่เราต้องการจริงๆ ได้

คหสต. ถ้ามี transport ดีๆ ใช้อยู่แล้ว BADA ก็ตอบสนองความต้องการได้ดีมากพอๆ กับ DAC202 แต่ถ้าเน้นใช้ computer ไม่ว่าจะเป็น OS ไหนก็ตามเป็นต้นทางแล้วละก็ขอให้มี firewire เป็นตัวจ่ายสัญญาณ DAC202 เหนือกว่า BADA ค่อนข้างมากในเรื่องของลีลาการนำเสนอเสียงเพลงออกมา ทำให้ความเป็นดนตรีมีมากกว่า(ในบางแนวเพลง สำหรับบางแนวเพลงอาจจะคมชัดมากไปนิดนึง ตรงนี้ไฟล์ต้นทางมีผลเยอะ) เนื่องจากขั้นตอนในการเชื่อมต่อน้อยกว่าสั้นกว่าดังที่กล่าวไว้แล้วตอนต้น





ภาค headphone amp: ส่วนตัวเคยมีอคติกับภาคเฮดโฟนแอมป์ของ BM DAC1 มาเนื่องจาก คหสต. รู้สึกว่าเหมือนกับใส่มาเป็นของแถมเท่านั้นเพราะว่าคุณภาพเสียงถือว่าไม่น่าประทับใจนัก จากนั้นมาพอมาเห็น DAC ที่ให้ภาคเฮดโฟนติดมาด้วยก็เลยไม่ค่อยอยากจะลองเสียบฟังดูเท่าไหร่เพราะความรู้สึกว่าเป็นของแถมมาให้ก็ยังมีอยู่ แต่พอมานึกถึง audio interface ตัวนึงที่เคยได้ใช้คือ TC Konnnekt 8 ซึ่งภาคเฮดโฟนทำออกมาได้ไม่เลวเลยจึงลองเอาหูฟังมาลองต่อดูเผื่อว่ามีอะไรน่าสนใจเพราะเห็นว่าก็มีคนชมภาคหูฟังของ DAC202 อยู่บ้างเหมือนกัน

หูฟังที่ได้ลองต่อฟังดูก็ได้แต่ Audio-technica L3000, Sennheiser HD800 และก็ Ultrasone ED8 ซึ่งแต่ละตัวก็ขับง่ายยากต่างกันไปตัวที่ขับยากสุดในชุดนี้ก็คงจะเป็น HD800 นั่นเองซึ่งตั้งแต่เคยได้ลองมามีแอมป์แค่ตัวสองตัวเท่านั้นที่คุมอยู่ พอมาทดลองต่อดูก็เป็นไปตามคาดก็คือภาคเฮดโฟนของ DAC202 ยังคุม HD800 ได้ไม่ค่อยดีนัก(สายสต็อค)แต่พอเปลี่ยนเอาสาย APS V3 มาเปลี่ยนแล้วต่อฟังดูอีกทีเหมือนกับว่าคุมได้นิ่งขึ้นแต่ก็ยังถือว่าขับ HD800 ได้ไม่สุดนัก

ไม่ใช่ว่าขับไม่ไหวนะครับตรงนี้ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนที่ว่าไม่สุดก็คือผมเองเคยฟัง HD800 จากแอมป์ที่มีกำลังพอสมควรเช่น RPX300 และก็ WA22 ซึ่งนำมาขับ HD800 ได้ค่อนข้างดีพอเจอแอมป์หูฟังตัวอื่นๆ เลยมีมาตรฐานส่วนตัวที่สูงไปหน่อยเท่านั้นเอง ที่ว่าไม่สุดก็คือผมเองเคยเอาแอมป์หลายๆ ตัวขับ HD800 แล้วถือเอาความถี่ต่ำในบางเพลงเปิดทดลองแล้วเหมือนกับแป่กเป็นเกณฑ์คือไปไม่ค่อยไหว DAC202 ก็เจอกรณีคล้ายๆ แบบนี้เช่นกันเพียงแต่ว่าก็พอไปได้เพียงแต่ว่ามีแกว่งนิดหน่อยแต่ก็ถือว่าขับออกมาได้ดีเลยทีเดียว

แต่ที่น่าประทับใจก็คือหูฟังที่ขับได้แบบไม่ยากนักเช่น ED8 หรือแม้แต่ L3000 ที่ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ภาคเฮดโฟนแอมป์ของ DAC202 ขับหูฟังเหล่านี้ได้ค่อนข้างโอเคเลย เสียงออก flat มากๆ ฟังๆ ไปก็นึกในใจว่า weiss ที่คุ้นกับการทำเสียงที่ใช้ในสตูดิโอจริงๆ เอาหูตัวไหนฟังก็รู้สึกว่ามันกลางๆ ไปหมดแต่ก็ฟังได้สนุกดี



ใช้เป็น interface: เนื่องจากว่าที่บ้านใช้ ULN-2 เป็น interface ต่อกับ BADA อยู่ก็เลยอยากลองภาค interface ของ DAC202 ดูเนื่องจากไม่มีโอกาสได้ลอง INT202 ที่ว่ากันว่าเป็น interface อีกตัวที่ดีแต่ราคาก็ค่อนข้างสูงเหมือนกัน พอได้เอา DAC202 มาต่อกับ BADA โดยผ่านสายสัญญาณ AES/EBU สองเส้นก็คือ ซิ่งแหลก รุ่นบ่อมิไก๊ กับ Oyaide FTVS-910 ผลออกมาเป็นที่น่าประทับใจเหมือนกัน มีข้อดีขอด้อยต่างกับ ULN-2 เล็กน้อยที่ต่างกันก็คือ DAC202 ให้เสียงสะอาดกว่ารายละเอียดจะดีซึ่งก็เป็นข้อด้อยตรงจุดนี้อยู่ด้วยว่าถ้าสายสัญญาณเป็นเงินก็จะทำให้เสียงสดมากไปหน่อย

ส่วนตัวคิดว่าน่าจะใช้สายทองแดงหรือไม่ก็ผสมถึงจะเข้ากับบุคลิกเสียงของ DAC202 เมื่อเทียบกับ ULN-2 ความอบอุ่นของ ULN-2 มีมากกว่าแต่ว่าฟังๆ ไปเหมือนจะมีม่านหมอกจางๆ คลุมเสียงอยู่ตรงนี้ก็เป็นข้อด้อยของ ULN-2 อีกเช่นกัน แต่ยังไงก็ตามก็ถือว่าทั้งคู่ใช้เป็น audio interface ได้ดีเพราะต่างก็เหมาะสำหรับนำไปใช้ในสตูดิโอเช่นเดียวกัน ความแตกต่างทางด้านเสียงนอกจากจุดที่บอกไปแล้วในเรื่องของมิติหรืออะไรอย่างอื่นไม่รู้สึกว่าแตกต่างกันเลย(เทียบ ULN-2 กับ DAC202 ฟังผ่าน BADA)



สรุป: สำหรับผู้ที่ใช้ Computer เป็นหลักในการฟังเพลงแล้วละก็โดยขนาดแล้วการติดตั้งทำให้ DAC202 ตอบโจทย์ได้ดีมากๆ อีกทั้งเสียงที่ออกมาก็ไม่ธรรมดาอีกด้วยถ้างบถึงตัวนี้เป็นตัวเลือกที่ดีมากๆ สำหรับ computer audiophile เลยก็ว่าได้

บุคลิกเสียงของ DAC202 แนวเสียงคล้ายกับรุ่นพี่คือ weiss minerva แต่ว่า upgrade มาแล้วคือสด ชัด รายละเอียดเยี่ยมและก็ flat มากๆ ตามแบบของอุปกรณ์ที่เหมาะกับการนำไปใช้ในสตูดิโอซึ่งต้องการความเที่ยงตรงสูง แต่ก็ให้เสียงที่ไม่แข็งหรือหยาบกร้านเลย

ข้อเด่นมากๆ อีกอย่างคือความเป็นสามมิติของเวที ส่วนตัวของผมแล้วตรงนี้ประทับใจผมมากที่สุดทำให้ฟังเพลงออเครสตร้าวงใหญ่ได้อารมณ์ดีจริงๆ อีกทั้งลีลาความพริ้วในทีและไดนามิคที่ดีทำให้เสียงเพลงที่บรรเลงออกมาสมจริงดีทีเดียวแต่ก็ยังมีความรู้สึกว่าเป็นเสียงแบบ digital แท้ๆ อยู่ดีแม้จะไม่มีกลิ่นอายของ analog เจออยู่แต่ก็ถือว่าเสียงออกมาน่าฟังมากๆ เพราะยังไงก็ต้องยอมรับว่าเสียงจากแหล่งโปรแกรม digital ยังไงก็คือ digital อยู่ดีแม้ว่าจะมีการพัฒนาไฟล์เสียงที่ให้ความละเอียดสูงๆ แต่ยังไงก็ตามความรู้สึกอบอุ่นแล้วก็เข้าถึงอารมณ์เพลงก็ยังสู้แผ่นเสียงไม่ได้(คหสต. ทั้งสิ้น)

การเล่นไฟล์เพลงความละเอียดสูงที่เรียกว่า HRx นั้น DAC202 แปลงสัญญาณออกมาได้ดี ตรงนี้เมื่อฟังเทียบกับ BADA ซึ่งผู้ผลิตเป็นคนคิด HDCD ขึ้นมาส่วนตัวฟังแล้วเสียงไม่ต่างกันมากนัก แต่ยังไงก็ตาม option ความละเอียดสูงที่มีมาให้นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ออกแบบได้เตรียมไว้เผื่ออนาคตเอาไว้จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์บ่อยๆ เพราะซื้อหามาใช้แล้วอย่างน้อยก็คงจะใช้ติดต่อกันไปได้หลายปีโดยที่สามารถรองรับไฟล์เพลงรุ่นใหม่ๆ ซึ่งเป็นไฟล์ความละเอียดสูงได้อย่างลงตัว


ส่งท้าย:

"ทุกๆ วันคือวันแม่ อย่าลืมข้าวแต่ละคำ น้ำแต่ละอึก นมแต่ละอิ่มที่คุณแม่ป้อนให้เรามานะครับ"


ขอให้มีความสุขกับการฟังเพลงนะครับทุกท่าน

ผู้ติดตาม