วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

[เล่าความประทับใจ] The King's Speech : The real King Maker






ปีที่ผ่านมานี้เท่าที่ได้ชมภาพยนตร์มาก็หลายเรื่องพอสมควรแต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะเขียนถึงเรื่องไหนเป็นพิเศษแม้หลายๆ เรื่องจะทำออกมาได้ดีมากก็ตาม ส่วนตัวชอบดูภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับชีวประวัติบุคคลหรือเรื่องราวประวัติศาสตร์ด้วยเหตุที่ว่าภาพยนตร์ประเภทนี้มักจะให้แง่คิดมุมมองอะไรหลายๆ อย่างเพราะว่าถ้าเอาประวัติของใครซักคนมาทำเป็นภาพยนตร์ได้ก็แสดงว่าท่านผู้นั้นมีคุณค่ากับโลกน้อยๆ ใบนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วการที่จะไปยืนในจุดๆ นั้นบุคคลท่านนั้นๆ ก็ต้องผ่านตายมาบ้างแล้ว(ในที่นี้หมายถึงมีชีวิตตัวเองเป็นเดิมพัน)ถึงได้เป็นที่จดจำของโลกจนต้องจารึกเรื่องราวไว้เป็นแผ่นฟิลม์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเป็นต้องตามดูภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวประวัติบุคคลไปซะทุกเรื่องเพราะก็มีอีกบางเรื่องเหมือนกันที่ไม่ได้ให้คุณค่าอะไรกับชีวิตเลย และถ้าจะให้ดูภาพยนตร์ในแนวนี้ได้ลึกซึ้งมากขึ้นหลังจากดูจบสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไปหาอ่านเพิ่มเติมไม่ว่าจะอ่านหนังสือหรือตามสืบค้นจากอินเตอร์เน็ตแล้วจะช่วยให้เราเข้าใจภาพและเหตุการณ์จริงๆ ของเรื่องราวได้มากยิ่งขึ้น

ในกรณีของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกันบอกตามตรงว่าชื่อเรื่องไ่ม่ได้น่าสนใจอะไรมากมาย แต่การตั้งชื่อภาพยนตร์ในแนวชีวประวัติซึ่งส่วนมากมักจะตั้งชื่อตามชื่อของบุคคลท่านนั้นหรือไม่ก็ก็ยกเอาจุดเด่นของท่านรวมไปถึงเหตุการณ์และลักษณะเด่นขึ้นมาเป็นจุดขายเช่น Elizabeth, Elizabeth: the Golden age, the Queen, Shine, a Beautiful mind และอีกหลายๆ เรื่องที่ได้มีการสร้างมา ภาพยนตร์แนวนี้ก็จะมีการเสริมเติมเพิ่มในส่วนของความบันเทิงลงไปเป็นปกติเพื่อช่วยเสริมให้ขายออกง่ายขึ้นในเชิงการตลาด อีกอย่างการชมภาพยนตร์ยังไงก็ตามจะเน้นเพื่อให้ความบันเทิงเป็นหลัก(ถ้าอยากเอาจริงเอาจังเอาเวลาไปนั่งอ่าน text books ดีกว่า)จะเอาถือเอาเป็นจริงเป็นจังว่าเหตุการณ์ในชวงนั้นและบุคคลท่านนั้นจะเป็นเหมือนในภาพยนตร์ก็คงจะไม่ได้ อย่างดีที่สุดก็คงจะทำได้แค่ใกล้เคียงไม่ก็สอดคล้องกับเหตุการณ์จริงเท่านั้นเอง

ส่วนตัวผมแล้วหาไม่ง่ายที่จะมีนักแสดงหลายๆ ท่านที่ผมชื่นชมและชื่นชอบมาร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องเดียวกันแต่สำหรับ the king's speech นี้มีนักแสดงที่ผมชอบมาร่วมแสดงอยู่หลายท่านเลยนับตั้งแต่ Colin firth(Shakespeare in Love, Love Actually, Mama mia!), Geoffrey Rush(Shine, Shakespeare in Love, Quills, Pirates of Caribbeans), Helena Bonham Carter(Big Fish, Fight Club, Planet of the Apes, the Wings of the Dove), Guy Pearce( the Hurt Lockers, L.A. Confidential, The Count of Monte Cristo, Memento) และ Michael Gambon( Harry Potters, Sleepy Hollow) ซึ่งแต่ละท่านล้วนแต่มีฝีมือในการแสดงที่ไม่ธรรมดาหลายท่านก็ได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัล Oscar และหนึ่งในนั้นก็ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาแล้วด้วยคือ Geoffrey Rush กับบทนำจากภาพยนตร์เรื่อง Shine อันส่งผลให้เค้าได้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกแม้จะหายหน้าหายตาไปหลายปีแต่ก็กลับมาอีกทีในภาพยนตร์เรื่องดัง Pirate of Carribbean ในบทของกัปตัน Barbossa ส่วนตัวหวังว่าปีนี้เค้าคงจะได้รางวัล Oscar อีกครั้ง

The King's Speech เป็นเรื่องราวของพระเจ้า George ที่ 6 ที่จะต้องผ่านด่านที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของพระองค์ท่่านคือการพูดสุนทรพจน์ให้กับประชาชนในเครือจักรภพอังกฤษทั้งหมดเพื่อนำประเทศเข้าสูงภาวะสงครามกับเยอรมนีหลังจากที่เคยพลาดมาแล้วครั้งหนึ่งกับการกล่าวปิดงาน Empire Exhibition ที่สนาม Wembley ในปี 2468 สมัยที่ยังเป็น Duke of York ด้วยเหตุที่ว่าพระองค์มีปัญหาในการพูดจน Elizabeth พระชายาต้องไปหาแพทย์มาช่วยรักษาอาการ Stammer หรือติดอ่างของพระองค์อันเป็นที่มาของเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้





การพูดสุนทรพจน์ธรรมดาสำหรับคนทั่วไปถือว่าเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้วยิ่งเป็นคนที่มีปัญหาทางด้านการพูดด้วยก็คงจะเป็นสิ่งที่ยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ the King's speech นำเสนอความมุมานะและพากเพียรของ Duke of York ในการที่จะฝึกพูดให้ได้ราบรื่นพร้อมกับแทรกเหตุการณ์ในรัชสมัยของกษัตริย์สามพระองค์ของประเทศอังกฤษไปพร้อมๆ ได้อย่างลื่นไหลตามตรงนี้ต้องชม David Seidler ที่เขียนบทออกมาได้น่าติดตามและก็ไม่หนักจนเกินไป บางฉากที่แทรกเข้ามาแม้จะไม่ยาวนักแต่ก็ช่วยเสริมให้เรื่องราวมีน้ำหนักมากขึ้นพร้อมทั้งช่วยเพิ่มปูมหลังให้กับตัวละครในเชิงลึกด้วย เช่นฉากของ Mrs Simpson ซึ่งในสมัยนั้นเป็นที่โจทก์จันกันไปทั่วโลกในกรณีที่พระเจ้า Edward ที่ 7 สละราชบัลลังก์ไปแต่งกับหญิงหม้ายชาวอเมริกัน กับฉากที่ Duke of York นั่งประกอบเครื่องบินเล็กของลูกชายLionel Logue ซึ่งรับบทโดย Geoffrey Rush เพื่อเสริมให้รู้ว่าพระเจ้า George ที่ 6 มีความสนใจและมีพื้นฐานในเรื่องของการบินอยู่บ้าง(ในประวัติพระองค์เคยฝึกนักบินในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1) บทของเรื่องเป็นส่วนที่ผมชอบจริงๆ เพราะไม่ได้เอามาจากหนังสือแต่เป็นบทที่เขียนมาเพื่อทำเป็นภาพยนตร์โดยเฉพาะ ถ้าจะให้ Oscar กับภาพยนตร์เรื่องนี้ในส่วนของบทภาพยนตร์ดั้งเดิมด้วยก็คงจะไม่น่าแปลกใจนัก

เรื่องของภาพการตัดต่อและเสียงนั้นทำได้ลงตัวอีกเช่นกัน การวางภาพของเรื่องเน้นเส้นกึ่งกลางภาพเป็นหลักแทบจะเรียกได้ว่ากลางภาพต้องมีเส้นๆ นึงอยู่เสมอในทุกฉาก แล้วก็ตั้งกล้องนิ่งโดยให้น้ำหนักของภาพเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อเพิ่มความอึดอัดให้กับเหตุการณ์แม้ว่าอีกด้านของจอจะเว้นเป็นช่องว่างไว้เยอะเลยก็ตามแถมใช้้เลนส์มุมกว้างไปกว่าค่อนเรื่อง มุมกล้องในเรื่องนี้มักจะให้มุมมองของตัวละครขัดกับมุมกล้องเสมอ(ตรงนี้เท่ห์ดีจริงๆ ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่สะดุดตา)เช่นตัวแสดงอยู่มุมขวาของจอซึ่งตามปกติแล้วมักจะให้มองไปทางซ้ายเพิ่มเพิ่มเส้นนำสายตาไม่ให้ภาพหนักข้างแต่เรื่องนี้ไม่ใช่ ถ้านักแสดงอยู่มุมขวาผู้กำกับภาพก็จะให้นักแสดงมองไปทางขวาแม้จะตั้งกล้องนิ่งและตรงเป็นส่วนมากแต่ด้วยมุมกล้องแบบนี้นี่ที่หลอกตาทำให้น้ำหนักของภาพเอียงไปได้ แต่การวางมุมกล้องแบบนี้ของเรื่องจะค่อยๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ ตามเหตุการณ์ของเรื่องจนสุดท้ายสามารถดึงกลับเข้ามาได้ในแนวกลางของจอได้อย่างสวยงามคล้ายๆ กับจะบอกเป็นนัยว่าบางสิ่งที่ผิดปกติในตอนแรกๆ คือปัญหาในใจของพระเจ้า George ที่ 6 นั้นได้รับการแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติได้ โดยเฉพาะฉากโบกมือในตอนจบที่วาง composition ของภาพได้ลงตัวบอกเป็นนัยให้ผู้ชมได้รู้ว่าพระองค์ทรงมีครอบครัว ประชาชน แล้วก็ Lionel Logue อยู่เคียงข้าง

การตัดต่อของเรื่องทำได้ฉับไวไล่ไปตามลำดับเหตุการณ์โดยเดินเรื่องผ่านบทพูดที่ลงตัวผ่านการนำเสนอโดยนักแสดงแต่ละท่านทีี่ได้รับคัดเลือกมาเป็นอย่างดีทำให้ไม่น่าเบื่อในการชม

เรื่องของเสียงแม้ว่าจะไม่ได้มีฉากเอฟเฟคระเบิดตูมตามซึ่งส่วนตัวผมว่าไม่ได้เป็นการโชว์ศักยภาพของผู้ดูแลเรื่องการบันทึกผสมเสียงเลย ตรงข้ามเสียงบรรยากาศรายรอบแบบปกติเช่นเสียงก้องสะท้อนหรือว่าอับทึบตามสภาพอคูสติคของฉากต่างหากที่ทำให้ภาพยนตร์มีความเป็นธรรมชาติสูงสำหรับเรื่องนี้นี่บันทึกเสียงมาได้ไม่ธรรมดาจริงๆ อีกอย่างเอฟเฟคเรื่องเสียงสะท้อนที่จงใจใส่มาให้มากเกินธรรมชาติไปหน่อยในฉากเปิดเรื่องช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี ฉากนี้เปิดโอกาสให้ฝ่ายเสียงได้โชว์ลีลาการโยนเสียงของช่องสัญญาณเซอร์ราวด์อยู่บ้าง

ในส่วนของดนตรีประกอบก็พูดได้ว่าทำได้สวยงามดีมาก เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่ผมคงจะต้องไปหา CD Score ของเรื่องนี้มาเก็บไว้ฟัง สำหรับใครที่ชอบฟังเพลงบรรเลงที่ท่วงทำนองมีความสวยงามฟังแล้วรู้สึกสดชื่นไม่ควรพลาดครับ





สรุป: ในยุคที่เรื่องของเสียงเป็นตัวกำหนดทิศทางของโลกผ่านสื่อที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือวิทยุ BBC ซึ่งมีการถ่ายทอดไปตามประเทศต่างๆ ในเครือจักรภพซึ่งกินพื้นที่ไปหนึ่งในสี่ของโลกในยุคนั้น พระราชดำรัสของกษัตริย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสามารถกำหนดเป็นกำหนดตายกำหนดทิศทางของโลกได้ภายในเวลาไม่เกินห้านาที ถ้ากษัตริย์พระองค์นึงที่มีปัญหาในเรื่องของการพูดจำต้องตรัสกล่าวสุนทรพจน์ในตอนนั้นลองคิดดูก็แล้วกันครับว่าจะมีความกดดันมากขนาดไหน คงจะประมาณว่าแบกโลกทั้งโลกไว้บนคอในตอนที่เอ่ยกระแสพระราชดำรัสก็คงจะไม่เกินความจริงมากนักและนี่ก็คือแกนหลักในการเดินเรื่องของ the king's speech

ส่วนใครที่อยากจะเป็นนักกล่าวสุนทรพจน์ที่ดีสมควรมากที่จะไปตามอ่านดูสุนทรพจน์ของผู้นำประเทศต่างๆ ในยุคโน้นได้ไม่ว่าจะเป็นสุนทรพจน์ของฮิตเลอร์ เชอร์ชิลกับอีกหลายๆ ท่านแล้วจะเห็นเลยว่านักพูดในยุคนั้นมีความยอดเยี่ยมขนาดไหน ยิ่งถ้าไปตามหาฟังหรือดูจากคลิปที่มีการบันทึกไว้จะยิ่งเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นซึ่งแม้บางทีจะฟังไม่ออกก็ตามเพราะเป็นภาษาที่ไม่คุ้นเช่นการกล่าวสุนทรพจน์ของฮิตเลอร์แต่ผมคิดว่าท่านจะรับรู้ได้เลยว่าการพูดที่ทุ่มทั้งชีวิตพูดนั้นเป็นอย่างไร ถ้าจะมีภาพยนตร์ซักเรื่องได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของปีนี้ผมให้เรื่องนี้ครับ


"การพูดให้คนออกไปรบว่ายากแล้ว การที่จะพูดให้คนกลับมารักกันนั้นยากยิ่งกว่า"

ขอให้มีความสุขกับการดูหนังและฟังเพลงครับ

ผู้ติดตาม