วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ไอยคุปต์ในความทรงจำ part 3

ผู้นำเป็นตัวกำหนดทิศทางประเทศไม่ว่าจะเป็นด้านใดเพราะผู้นำคือต้นแบบ เป็นผู้ตัดสินใจกำหนดชะตาและทิศทางของประเทศว่าจะให้วิ่งสู้ฟ้าหรือดิ่งพสุธาลงไปในห้วงเหว ดังนั้นหากได้ผู้นำดีประเทศก็สามารถพัฒนาต่อเนื่องไปได้แต่ยังไงก็ตามผู้นำมีทั้งที่ดีและก็ไม่ดีส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับบุญกรรมของประเทศแล้วก็ทัศนคติแง่คิดมุมมองของคนในบ้านเมืองที่ช่วยกันเลือกขึ้นมาตามระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ว่ากันว่าดีที่สุด(ในตอนนี้) อียิปต์โบราณมีผู้น้ำที่เก่งมากๆ หลายต่อหลายพระองค์ได้ฟาโรห์เก่งๆ มาบริหารก็มากมายรวมไปถึงผู้นำจากประเทศจากยุโรปทั้งกรีกและโรมัน แม้ในตอนหลังที่อาณาจักรจากทางตะวันออกทั้งเปอร์เชียและออตโตมันมาปกครองนับตั้งแต่สมัยของซาลาฮ์ดิน(Salahadin)ผู้ที่นำกองกำลังทหารมุสลิมขับนับรบครูเสดออกจากเยรูซาเล็มได้สำเร็จจนมาถึงผู้นำที่มีเชื้อสายออตโตมันเช่นมูฮัมหมัดอาลี(Muhammad Ali of Egypt)ซึ่งท่านผู้นี้ถือว่ามีพระคุณกับประเทศอียิปต์ในยุคหลังเป็นอย่างมากเรียกได้ว่ารากฐานหลายๆ อย่างเช่นระบบการศึกษา ศาสนา ศิลปะ ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจและการทหาร

แม้ว่าการขึ้นมาเป็นผู้นำของมูฮัมหมัดอาลีจะค่อนข้างโหดร้ายคือเรียกผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามของตนมาพบในมัสยิดที่สวยและใหญ่มากๆ ที่เค้าได้สร้างไว้(ปัจจุบัน Muhammad ali Mosgue เป็นหนึ่งจุดที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยี่ยมยมและศพของมูฮัมหมัดอาลีก็ถูกบรรจุไว้ที่มัสยิดแห่งนี้ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันตั้งอยู่บนเนินเขาในเขต old cairo) เมื่อทุกคนมาพร้อมกันหมดแล้วมูฮัมหมัดอาลีก็ได้สังหารทุกคนจนสิ้นชีวิตในมัสยิดนั้นนั่นเอง เมื่อทุกคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับตนถูกำจัดหมดแล้วมูฮัมหมัดอาลีก็เริ่มปฏิรูปประเทศมากระทั่งทุกวันนี้ ถามคนอียิปต์หลายๆ ท่านว่าผู้นำท่านใดที่ตัวเค้าคิดว่ามีพระคุณต่อประเทศอียิปต์มากๆ เกือบทุกคนมักจะยกให้มูฮัมหมัดอาลีเป็นบุคคลคนนั้นด้วยเหตุผลดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น สาเหตุอีกอย่างก็น่าจะเป็นเพราะว่าอยู่ในยุคที่ผ่านมาไม่นานมากประกอบกับสิ่งที่ทำให้เป็นประเทศอียิปต์อยู่ในทุกวันนี้ได้

จำเห็นได้ว่าผู้นำที่เป็นที่จดจำของผู้คนก็คือผู้นำที่สร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นให้กับประเทศในด้านต่างๆ นั่นเองไม่ใช่ผู้นำที่พูดเก่งมีชั้นเชิงการเมืองเยี่ยมแต่ว่าไม่รู้วิธีบริหารบ้านเมืองให้ประชาชนพอกินพอใช้ได้อยู่กันอย่างสงบสุขในแนวทางแห่งสันติวิธี ผู้นำท่านต่างๆ ที่ผ่านมาของอียิปต์หลายต่อหลายท่านเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างโอกาสให้กับตนซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของผู้นำ การศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดผู้นำแบบนี้ขึ้นมาได้แต่ไม่ใช่การศึกษาที่สอนแต่ให้รู้ การศึกษาที่ว่านี้คือการสอนให้คนได้รู้จักพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าทั้งทางความรู้และการดำเนินชีวิตซึ่งเรื่องของครอบครัวก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเนื่องจากเป็นผู้กำหนดทิศทางของความคิดให้เกิดกับตัวของผู้ที่ได้รับการศึกษา ตอนนี้ประเทศอียิปต์ประสบปัญหาในด้านการศึกษาเพราะจำนวนผู้ที่ไม่รู้หนังสือมีกว่า 30% จากจำนวนประชากรของประเทศทั้งหมดซึ่งตรงนี้จะเห็นได้ว่าผู้นำที่บริหารบ้านเมืองอยู่ในปัจจุบันไม่ค่อยได้เอาใจใส่กับเรื่องของการศึกษาเลย โรงเรียนของรัฐกับโรงเรียนของเอกชนผลิตเด็กออกมามีคุณภาพต่างกันแทบจะเรียกได้ว่าฟ้ากับเหว ได้เจอเด็กจากโรงเรียนทั้งสองแบบนี้รู้สึกอนาถใจกับชะตากรรมของเด็กที่โอกาสด้อยกว่าเพราะว่ามันช่างต่างกันเหลือเกินต่างกันกระทั่งแววตาและท่าทางการแสดงออกที่ปรากฏให้เห็น แม้เด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยก็ไม่รู้จักที่จะสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นกับตนเอง มักจะรอเรียกร้องให้มีผู้คนมาช่วยเหลือตนทั้งๆ ที่ตนเองนั้นแหละที่สำคัญที่สุด มีจำนวนนักศึกษาที่จบการศึกษาออกมาเป็นจำนวนมากแต่ก็ตกงานกันเป็นจำนวนมากเช่นกัน หลายๆ คนเลือกที่จะส่งเสริมลูกหลานของตนให้ศึกษาในด้านที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพราะ 11% ของ GDP อียิปต์มาจากการท่องเที่ยวนอกนั้นก็เป็นเรื่องของการเกษตรและสิ่งทอ ดังนั้นสาขาวิชาหลักๆ ที่เด่นๆ ของประเทศอื่นๆ ตกงานกันเป็นแถบแม้ว่าคุณภาพของคนจะไม่ด้อยกว่าประเทศอื่นก็ตามแต่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็ไม่ยอมที่จะสร้างโอกาสให้เกิดแก่ตน ตรงนี้มีบุคคลท่านนึงซึ่งไม่รอโอกาสหลังจากที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไคโรแล้วได้ออกสร้างโอกาสให้เกิดกับตนในภายนอกประเทศเพราะสภาพภายในประเทศไม่เอื้อจนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในที่สุด บุคคลท่านนี้ชื่อว่า Muhamed ElBaradei ซึ่งเท่าที่เห็นประเทศที่ไม่ค่อยมีการพัฒนาทางด้านความคิดซักเท่าบุคคลเก่งๆ มักจะออกไปสร้างตนเองนอกประเทศกันที่บ้านเราเรียกว่าสมองไหลเพราะโอกาสในประเทศของตนเองนั้นไม่เอื้อเนื่องจากกลุ่มบุคคลหลายๆ กลุ่มเกรงจะเสียผลประโยชน์นั่นเอง

มาถึงวันนี้เกิดเหตุการณ์จราจลขึ้นในประเทศอียิปต์เพราะประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ เริ่มเห็นว่าโอกาสของตนเองนั้นไม่มีทั้งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษาและสังคม อันมีสาเหตุมาจากกลุ่มคนที่มีอำนาจอยู่ในบ้านเมืองในขณะนี้ ยิ่งผลการเลือกตั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาออกมาแบบขัดกับความรู้สึกทำให้กลุ่มคนเหล่านี้อดทนกับสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจของตนมาเป็นเวลาช้านานกว่าสามสิบปีจนระเบิดออกมาในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้บุคคลท่านหนึ่งออกมาร่วมเดินประท้วงกับชาวอียิปต์ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน Muhamed ElBaradei นั่นเองที่กลับบ้านเกิดของตนมาเดินอยู่แนวหน้าร่วมกับพี่น้องชาวอียิปต์ผู้รักชาติอยากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในบ้านเมืองซึ่งเสียหายจากการบริหารของรัฐบาลสร้างภาพมานานกว่าสามสิบปี ถ้าใครได้ไปกรุงไคโรมาจะเห็นถนนที่ออกจากสนามบินมาจนถึงเขตที่พักของชาวต่างชาตินั้นสวยงามมาก แต่ตอนที่ผมไปเผอิญอยากได้รสชาติของชาวบ้านชาวเมืองเค้าจริงๆ เลยเลือกพักในกลางกรุงของเค้าเลยในเขตที่คนของเค้าอยู่กันจริงๆ ทำให้ได้ภาพที่น่าประทับใจกับบ้านนี้เมืองนี้เยอะเลยครับ สภาพเมืองหลวงที่มีคนอยู่กันไม่มากมายแค่ 22 ล้านคนนั้นบนถนนหนทางในชั่งโมงเร่งด่วนนี่สุดๆ

สรุป: ประเทศอียิปต์นั้นเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในยุคหลายพันปีก่อนเพราะได้ผู้นำที่มีความสามารถบริหารช่วยสร้างบ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองมีอาหารอุดมสมบูรณ์มาหลายๆ ต่อหลายท่านแต่สิ่งเหล่านั้นมันคืออดีต อดีตมันก็คืออดีตแต่ว่าสามารถใช้นำมาปรับปรุงแก้ไขหรือวางแผนรองรับสิ่งที่จะเกิดกับบ้านเมืองในปัจจุบันได้เช่นกันเพราะยังไงประวัติศาสตร์ก็มักจะล้อกับของเดิมอยู่แล้วถ้าบริหารบ้านเมืองดีประชาชนอิ่มหนำสามารถอยู่ได้ด้วยตัวของตนไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใครเอาของมามอบหรือส่งกำลังใจให้รู้จักคำว่า"ตนเป็นที่พึ่งของตน" เมื่อนั้นบ้านเมืองแม้จะเจอวิกฤติแค่ไหนก็สามารถจะกลับพลิกฟื้นคืนกลับขึ้นมาเหมือนเดิมหรือแม้กระทั่งดีกว่าเดิมได้ในที่สุด ประเทศอียิปต์ขาดอยู่อย่างเดียว ขาดผู้นำที่คิดจะพัฒนาประเทศเหมือนกับฟาโรห์หลายๆ พระองค์และผู้นำที่สุดยอดอีกหลายๆ ท่านที่ประเทศเคยมีมา

ผู้นำสร้างภาพแม้จะดูดีพอช่วยให้กำลังใจอะไรได้บ้างในช่วงแรกแต่ถ้าเวลาผ่านไปก็ยังรู้จักแต่สร้างภาพฝันไม่ได้ทำความจริงให้ปรากฏเมื่อนั้นถ้าประชาชนอดรนทนไม่ไหวขึ้นมาสภาพบ้านเมืองก็คงจะเกิดจราจลเพราะกลุ่มคนที่โกรธแค้นนั้นสามารถจะทำอะไรก็ได้ไปตามอารมณ์ของตน คนเราบางคนเกิดมาเป็นผู้นำคนบางคนเกิดมาเป็นได้แค่เพียงที่ปรึกษาตัวเราเองต้องบอกตัวเราเองให้ได้ว่าเรามีความสามารถอยู่ในระดับไหนต้องรู้จักประเมินตัวเองให้ได้อย่าหลอกตัวเอง หลายท่านเป็นที่ปรึกษาที่สุดยอดแต่เป็นผู้นำที่สุดแย่คล้ายๆ กับกรณีของขงเบ้งในสามก๊กเพราะตอนที่เป็นที่ปรึกษาเปรียบเหมือนเป็นโค้ชไม่ได้ลงไปเล่นเองในสนาม มุมมองจะกว้างกว่าความกดดันก็จะน้อยกว่ากัปตันทีมที่วิ่งอยู่ในลาน เมื่อวันใดวันหนึ่งต้องลงไปวิ่งเองแล้วก็จะรู้ว่า ออ ความสามารถของเรามันดีเฉพาะเป็นคนวางแผนไม่ใช่ตัวเล่น แต่พอวันนั้นมาถึงก็อาจจะสายไปเสียแล้วถูกฝั่งตรงข้ามอัดเอาซะยับจนรู้สึกขยาดเวทีทำให้บ้านเมืองเสียที่ปรึกษาดีๆ ไปมากๆ ต่อมาด้วยเหตุนี้ก็มีเหมือนกัน ดังนั้นต้อง"หมั่นประเมินตัวเองให้บ่อยๆ" มีความจำเป็นต้องทำอยู่ทุกวันแล้วก็ให้โอกาสคนที่เก่งกว่าดีกว่า ชื่นชมผู้ที่มีความสามารถแล้วเราจะได้พวกแม้จะไม่ได้เป็นหัวหน้าเค้าแต่ก็สามารถทำให้เค้ามาช่วยเราได้ในตอนที่ต้องการ "ทำงานกันเป็นทีมช่วยกันคิดแบ่งกันทำ"แบบนี้ประเทศชาติบ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้าได้ในที่สุด

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ไอยคุปต์ในความทรงจำ part 2

อารยธรรมอียิปต์รุ่งเรืองอยู่เป็นเวลานานด้วยฝีมือการบริหารของฟาโรห์หลายราชวงศ์ในยุคสี่พันปีก่อนก็ต้องถือว่าเทคโนโลยีและการสถาปัตย์รวมไปถึงการเมืองการปกครองของอียิปต์นั้นสุดยอดมากๆ ฟาโรห์หลายพระองค์ก็ทรงมีพระอัจฉริยภาพมากแต่ก็มีอีกหลายๆ องค์ที่บริหารไม่ค่อยดีนักทำให้เกิดปัญหาภายในแผ่นดินทำให้เกิดการล้มราชวงศ์ตามมาในที่สุด ฟาโรห์องค์เจ๋งๆ เช่นรามเสสที่ ๒(Ramesses II) ได้สร้างอนุสรณ์สถานหลายๆ อย่างทิ้งไว้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและมรดกทางสถาปัตยกรรมให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

หลายคนอาจจะมองว่าจะมีประโยชน์อะไรที่ไปดูเศษหินเศษดินถึงที่โน่นแต่อยากจะบอกว่าเศษหินเศษดินเหล่านั้นเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ถูกปกครองมีต่อกษัตริย์ของเค้าถ้ารู้จักมอง การเค้นศักยภาพคนออกมาให้คิดสร้างอะไรขึ้นมาซักอย่างนั้นบางทีอาศัยระยะเวลาทั้งชีวิตของบุคคล หลายๆ ชิ้นใช้เวลาหลายชั่วอายุคนจึงจะแล้วเสร็จ ประเด็นหลักที่ควรจะสนใจก็คือทำอย่างไรถึงจะรีดศักยภาพของคนให้คิดทำสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาได้ หลายท่านก็บอกว่าก็ใช้กำลังทหารบังคับให้ทำสิซึ่งก็มีส่วนถูกแต่ว่าการที่จะสั่งสมศรัทธาและบารมีให้มากพอจะสั่งให้ทหารเป็นแสนนายทำตามที่ตัวเองต้องการก็ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง

การได้ไปอยู่ในสถานที่จริงแล้วยิ่งได้ศึกษาประวัติศาสตร์ก่อนที่จะเดินทางไปยังสถานที่นั้นๆ ด้วยจะทำให้การเดินทางไปนั้นไม่สูญเปล่าอีกทั้งบางทียังจะได้แง่คิดมุมมองอะไรที่ต่างจากที่เคยได้รับรู้เป็นการมองจากมุมของคนในพื้นที่หลายๆ ครั้งก็จะได้ข้อมูลที่น่าสนใจยกตัวอย่างเช่นว่าเท่าที่ได้ศึกษามาการก่อสร้างปีรามิดได้ใช้แรงงานทาสมากมายแล้วทาสเหล่านั้นก็ถูกกดขี่ห่มเหงอย่างไม่ปราณีระหว่างการก่อสร้างซึ่งก็เป็นอีกมุมมองนึงซึ่งเป็นไปได้ แต่ก็มีอีกมุมมองนึงที่พอได้ไปยืนอยู่ตรงนั้นได้เห็นสุสานของทาสอยู่รอบๆ ปีรามิดซึ่งไกด์ก็ได้บอกว่าถ้าเกิดมีการทารุณกรรมทาสจริงก็ไม่มีความจำเป็นว่าต้องสร้างสุสานไว้ให้โดยรอบซึ่งก็อาจจะมองว่าก็จะได้ตามไปเป็นทาสในชีวิตหลังความตายตามความเชื่อของเพแกน(ศาสนาหลักในยุคนั้นที่ถือเอาเทพเจ้าเป็นที่พึ่ง) แต่ก็ถือว่าได้ข้อมูลอีกด้านจากคนในพื้นที่ซึ่งโชคดีว่าการไปรอบนี้ได้ไกด์ซึ่งเรียนอยู่ในระดับปริญญาเอกมีการวิเคราะห์เรื่องราวหลายต่อหลายเรื่องให้ฟังซึ่งก็น่าสนใจและมีความเป็นไปได้สูงมากเลยทีเดียว

ส่วนตัวที่ได้ฟังจากไกด์มาได้ทราบว่ายุคโน้นเกิดปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ทำให้ฟาโรห์มีความจำเป็นต้องแก้ไขแต่ว่าจะให้เอาสมบัติไปแจกก็คงจะเกิดจราจลขึ้นกลางเมืองดังนั้นจึงคิดสร้างงานให้มีการหมุนเวียนของสินทรัพย์ลงไปในถุงเงินหลักที่แฟบอยู่ซึ่งง่ายสุดก็คงจะหนีไม่พ้นการสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ซึ่งสามารถจะหมุนเวียนคนเข้ามาทำงานแล้วก็รับค่าตอบแทนไปใช้จ่ายแล้วก็จะพอช่วยให้เศรษฐกิจและปัญหาสังคมค่อยๆ ลดน้อยลงไปได้ เมื่อมีงานก็มีเงินเมื่อมีเงินก็มีการใช้จ่ายซื้อของเกิดการหมุนเวียนของเงินซึ่งไม่ว่ายุคไหนก็เป็นแบบนี้ คล้ายๆ กับตอนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า the great depression ก็มีการตัดทางด่วนระหว่างรัฐ(interstate) ขึ้นเพื่อช่วยสร้างความหวังโดยการขายฝันให้กับประชาชนว่าหลังจากที่ทางด่วนระหว่างรัฐนี้สร้างเสร็จเงินก็จะไหลเวียนไปได้สะดวกการค้าและเศรษฐกิจทุกอย่างจะฟื้นตัวขึ้นมาซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ดังที่บอกไว้ว่า "เมื่อมีการสร้างงานก็มีการจ้างงาน เมื่อมีการจ้างงานก็มีการจ่ายค่าตอบแทน เมื่อมีค่าตอบแทนการจับจ่ายใช้สอยก็เกิดขึ้นตามมา" ทำให้มีเงินเข้าไปหมุนในระบบเศรษฐกิจในที่สุด เหตุการณ์ในสมัยโบราณก็คงจะเป็นไปในทำนองเดียวกันดังนั้นหากผู้บริหารบ้านเมืองมีความฉลาดก็สามารถจะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสบางครั้งก็สามารถพลิกสนามรบเป็นสนามการค้าโดยการแบ่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกันพูดง่ายๆ ก็คือ"ปันกันกินปันกันใช้"นั่นเอง

ฟาโรห์หลายๆ ท่านในประวัติศาสตร์อียิปต์สามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าแบบสุดๆ หลายๆ พระองค์ทำสิ่งที่ยากแบบสุดๆ ให้สำเร็จได้ภายในช่วงระยะเวลาที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ด้วยซ้ำไป พึ่งได้รู้เกร็ดว่าพระนามของฟาโรห์จะมีชื่อของเทพเจ้าตามความเชื่อของเพแกนซึ่งเป็นที่เคารพอยู่ในช่วงนั้นๆ ด้วยเช่น รามเสสที่ ๒ ก็จะมีชื่อของสุริยเทพ "รา" อยู่ในพระนาม ตุตันคาเมน(ตุตันคามอน) ก็มีเทพ "อามอน" อยู่ในพระนามของพระองค์ และตามรูปแกะสลักก็มักจะมีพระนามของฟาโรห์สลักไว้ที่หัวไหล่ทำให้ทราบว่าเป็นรูปแกะของฟาโรห์พระองค์ใด ที่น่าทึ่งตอนที่ไปในทริปนี้ก็คือรูปแกะของฟาโรห์รามเสสที่ ๒ มหาราชนั้นมีสัดส่วนที่ถูกต้องตามหลักกายภาพได้อย่างน่าทึ่งเพราะรูปแกะของพระองค์มีขนาดใหญ่มากกะคร่าวๆ ก็น่าจะสูงไม่ต่ำว่าสิบเมตรแต่ก็ยังคงสัดส่วนไว้ได้เป็นอย่าวดีซึ่งแม้แต่สมัยนี้ให้ช่างแกะชั้นยอดทำก็ไม่อาจจะทำให้สำเร็จได้ง่ายๆ แต่นี่ย้อนกลับไปสี่พันกว่าปีทำได้ขนาดนั้นนี่ถือว่าสุดยอดมากๆ

สุสานของฟาโรห์ที่เริ่มเป็นที่นิยมมาตั้งแต่เมืองหลวงดั้งเดิม ซัคคารา(sakkara หรือ saqqara) ที่มีการพยายามสร้างปีรามิดแบบขั้นบันไดขึ้นมาโดยเอาศัยหลักการที่จำลองเอาที่นั่งตามบ้านมาเรียกขึ้นไปเป็นชั้นๆ ก่อนที่จะมาสร้างเป็นทรงแหลมอย่างที่เราคุ้นตากันในภายหลัง ซึ่งในยุคแรกที่มีการสร้างปีรามิดแบบสมบูรณ์แบบนั้นก็ได้ก่อหินขึ้นไปเป็นรูปทรงแต่เนื่องจากว่ามีการกดทับน้ำหนักลงมาตามแรงที่กระทำต่อพื้นทำให้ส่วนยอดยุบลงมาเกิดการผิดรูปร่างขึ้น จนตอนหลังมาสถาปนิกผู้ออกแบบคิดแก้ปัญหาโดยสร้างห้องภายในขึ้นเพื่อลดแรงกระทำในแนวดิ่งขึ้นมาได้สำเร็จจนมีมหาปีรามิดสามองค์ของปู่ ลูก หลาน (The Great Pyramid of Giza) ที่มีขนาดและความสูงลดหย่อนขึ้นมาตามลำดับซึ่งก็ถือว่ามีการให้เกียรติของบรรพบุรุษอยู่ด้วยเช่นกันในสมัยโน้นเพราะด้วยเหตุที่เทคโนโลยียังคงอยู่แม้จะสามารถสร้างปีรามิดของตนให้มีขนาดใหญ่กว่าก็เป็นไปได้(แต่ก็มีการหลอกตาเล็กๆ โดยการสร้างปีรามิดองค์กลางของฟาโรห์คีเฟนอยู่บนเนินทำให้ดูว่าสูงว่าของพระบิดาคือฟาโรห์คีออปส์ ปีรามิดองค์กลางนี้ยังมีร่องรอยของหินก่อนที่ทำตกแต่งอยู่ภายนอกทำให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่าในสมันตอนที่สร้างเสร็จใหม่ๆ นั้นองค์ปีรามิดมีผิวภายนอกที่มันวาวแต่เนื่องจากว่าหินอ่อนที่เอามาประดับภายนอกไม่อาจจะทนต่อลมฟ้าอากาศได้จึงอยู่มาไม่ถึงทุกวันนี้เหมือนหินภูเขาไฟที่มีความแกร่งมากกว่าเป็นโครงสร้างอยู่ภายใน)

มาถึงตรงนี้อีกแล้วเรื่องราวก็ยังไม่จบดีคงต้องมาว่ากันต่อวันหน้า...

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ไอยคุปต์ในความทรงจำ

นั่งดูข่าวหรืออ่านเว็ปที่เข้าเป็นประจำในช่วงนี้เจอแต่ข่าวพาดหัวเรื่องการลุกฮือขึ้นมาขับไล่ประธานาธิบดีมูบารัคของอียิปต์แล้วก็นึกสะท้อนใจที่เหตุอันไม่น่าจะเกิดก็มาเกิดขึ้นจนได้ โชคดีที่พึ่งไปอียิปต์มาเมื่อช่วงลอยกระทงปีที่แล้วทำให้ยังจำภาพรวมๆ ของกรุงไคโรและจตุรัส Tahrir ได้อย่างชัดเจนเพราะพึ่งผ่านมาไม่นานนัก เมื่อนึกย้อนกลับไปถึงภาพที่ได้เห็นมาก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพี่น้องชาวไอยคุปต์(coptic)ถึงได้ออกมาเดินกันเต็มถนนแถมยังมีบุคคลที่ได้รับรางวัลโนเบลมาร่วมเดินกับเค้าด้วย(คนๆ เป็นบุคคลที่ชาวอียิปต์ทั่วไปน่าจะเอาเป็นตัวอย่าง ส่วนน่าจะเอาเป็นตัวอย่างอย่างไรนั้นค่อยว่ากันต่อไป)

สภาพโดยรวมของกรุงไคโรและชานเมืองถือว่าอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างย่ำแย่แต่ก็ดีกว่าประเทศในตะวันออกกลางอีกหลายๆ ประเทศเหมือนกันเพราะอย่างน้อยรายได้ประจำที่ได้จากการท่องเที่ยวก็สามารถเลี้ยงประเทศได้อย่างไม่ลำบากมากนัก เมื่อไปถึงทีแรกก็นึกว่าคงจะได้เจอสภาพที่แห้งแล้งเหมือนกับประเทศที่ตั้งอยู่ในทะเลทรายทั่วไปแต่ว่าสำหรับกรุงไคโรนั้นกลับเขียวชะอุ่มเนื่องจากมีแน่น้ำไนล์ไหลเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงตั้งแต่ตอนล่างมาถึง Upper Egypt หรืออียิปต์ตอนบนซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในยุคโบราณย้อนกลับไปสี่ห้าพันปีก่อน

แม่น้ำไนล์มีความแตกต่างจากแม่น้ำอื่นๆ ในโลก็คือว่าจะไหลจากใต้ขึ้นเหนือโดยมี"เขื่อนอัสวาน" (Aswan Dam) ที่ประเทศสหภาพโซเวียตได้มาสร้างไว้ให้เป็นกันและเก็บกักน้ำไว้ไม่ให้มาท่วมกรุงไคโรในฤดูน้ำหลาก(ส่วนมากก็ปลายๆ หน้าร้อนของที่นั่น)ว่ากันว่าสมัยก่อนน้ำได้ท่วมมาถึงปีรามิดที่กิซ่า(เมืองพี่น้องคนละฝั่งแม่น้ำไนล์กับกรุงไคโร)กันเลยทีเดียว หลังจากสร้างเสร็จแล้วหน้าเขื่อนกลายเป็นทะเลสาบนัสซอร์ซึ่งตั้งล้อตามชื่อของประธานาธิบดี Nasser ประธานาธิบดีคนที่สองของประเทศอียิปต์และประธานาธิบดีคนแรกของ United Arab Republic ผู้ที่ปรารภเหตุในการสร้าง จะว่าไปเขื่อนนี้จะเรียกว่าเป็น"เขื่อนการเมือง"ก็ได้เพราะว่า Nasser อาศัยช่องของสงครามเย็นเป็นตัวดึงเอาต่างชาติเข้ามาสร้างให้เพื่อความสันพันธ์ทางการทูตและยุทธศาสตร์ในยุคโน้นแต่สำหรับชาวอียิปต์ในปัจจุบันจะรู้จักเขื่อนนี้กันในนามของ High Dam สิ่งสำคัญที่เกิดคู่กับการสร้างเขื่อนนี้ก็คือการย้ายมหาวิหาร Abu Zimbel จากตำแหน่งที่ตั้งดั้งเดิมขึ้นมาให้พ้นจากบริเวณที่จะต้องจมอยู่ในน้ำหลังเขื่อนสร้างเสร็จ ซึ่งงานนี้ยิ่งกว่างานช้างอีกแต่ก็ทำได้สำเร็จในที่สุดแต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่อาจจะกู้กลับคืนมาได้ก็คือว่าตำแหน่งของมหาวิหารหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในยุคโบราณของประเทศอียิปต์นั้นจะถูกออกแบบไว้ให้ตั้งล้อกับดวงดาวหรือไม่ก็ดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอันเป็นรู้จักกันในนามว่า "รา" นั่นเอง หลังจากที่ย้ายมหาวิหาร Abu Zimbel จากตำแหน่งที่ตั้งเดิมแล้วแสงอาทิตย์ที่เคยตกกระทบกับใบหน้าของเทวรูปพอดีกลับเคลื่อนไปไม่ว่าจะหาทางแก้ยังไงก็ไม่เหมือนเดิมนอกจากจะยกกลับไปตั้งที่เดิมซึ่งก็คงจะเป็นไปไม่ได้

บริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ไปจนถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมีความเขียวชอุ่มอยู่พอสมควรเลยทีเดียว ถ้าวิ่งออกจากเมืองไปหน่อยสภาพสิ่งแวดล้อมข้างทางเหมือนขับรถออกไปแถวๆ อยุธยาไม่มีผิด มีแม้กระทั่งควายน้ำแบบเดียวกับบ้านเราแต่ว่าตัวเล็กกว่า สองข้างทางก็ปลูกกระหล่ำปลูกพืชผักคล้ายๆ กับบ้านเราเหมือนกัน แล้วก็มีฝ้ายซึ่งนับว่าเป็นฝ้ายที่มีคุณภาพดีมากๆ จนบ้านเราก็เอาเมล็ดฝ้ายจากที่นั่นมาปลูกเหมือนกันแต่ถ้าเทียบงานฝีมือในการถักทอแล้วละก็ของบ้านเรามีความละเอียดมากกว่าอย่างเห็นได้ชัดแม้แต่คนที่นั่นก็ยังยอมรับว่างานสิ่งของของเรานั้นดีกว่าเค้ามาก จะว่าไปอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยนั้นไม่แพ้ชาติไหนในโลกทั้งนักออกแบบช่วงตัดเย็บของบ้านเรานั้นฝีมือไม่เป็นรองใครน่าเสียดายที่ยังไม่ได้มีการส่งเสริมจากฝั่งรัฐเท่าที่ควรจะเป็นเท่าที่ดูคล้ายๆ กับว่ากระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงต่างประเทศไม่ได้ประสานงานกันเท่าไหร่แม้จะมีทูตพาณิชย์ไปอยู่ตามประเทศต่างๆ อยู่แล้วก็ตามที

มาถึงตรงนี้แล้วสำหรับวันนี้ดูท่าคงจะไม่จบคงจะต้องมาว่ากันต่อวันหน้าแล้วหละ..

ผู้ติดตาม