วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Believe Fact Truth ตอนที่ 2

Believe คือความเชื่อซึ่งจะประกอบไปด้วย fact ที่บุคคลนั้นๆ มีอยู่ในใจแต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็น truth เสมอไป, Fact ประกอบไปด้วยข้อมูลซึ่งมีทั้งข้อมูลที่เป็นจริงและก็เป็นเท็จ ส่วน Truth เป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงตามจริงอันไม่มีข้อโต้แย้งได้(เท่าที่เจอมาจะหา Truth ได้ยากมากในสังคมที่เปี่ยมไปด้วยอคติ)


มีครูบาอาจารย์ผมท่านนึงได้สอนว่า Believe ที่ดีนั้นต้องประกอบไปด้วย wisdom คือปัญญาคือผ่านการพิจารณาหาเหตุผลด้วยตัวเองมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะปัญญาที่ว่านี้ตัวเราเองต้องเข้าใจและพิจารณาในเรื่องนั้นๆ อย่างถ่องแท้จะเอาแค่รับฟังหรือว่าทำตามๆ กันมาไม่ได้ จะให้ดีต้องผ่านประสบการณ์ตรงหรือได้รับข้อมูลมาโดยตรงจะดีที่สุด ถ้าอาศัยงานวิจัยก็ต้องเป็นงานวิจัยที่ตัวเราเองเป็นผู้กำหนดค่าตัวแปรหรือว่าผู้ที่ทำวิจัยมีพื้นฐานและจุดประสงค์ในการทำวิจัยใกล้เคียงกับสิ่งที่เราทำ เมื่อไหร่ที่ believe ไม่ได้ผ่านขั้นตอนของการพิจารณาดังที่กล่าวมาหรือว่าไม่มีเหตุผลอะไรรองรับหรือมีแค่อารมณ์ความอยากจะเชื่อ believe นั้นๆ จะเป็นได้แค่ความงมงาย และการที่จะไม่เชื่อโดยไม่ยอมไปพิสูจน์หรือไล่หาเหตุผลก็เป็นได้แค่คน"ดื้อ"

แต่แน่นอนการที่เราจะเชื่อในสิ่งไหนนั้น fact ที่เราได้รับมานั้นเองที่เป็นตัวกำหนดทิศทางความเชื่อของเรา จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า fact ที่ได้รับผ่านทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์เป็นตัวที่ทำให้ fact ที่ได้รับเป็นเท็จมากกว่าเป็นจริง แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะเช่ือถือข้อมูลจาก fact เหล่านั้นไม่ได้ และก็ไม่ได้หมายความว่าสื่อเหล่านั้นจงใจจะทำให้ข้อมูลถูกบิดเบือนเพียงแต่ว่าด้วยข้อจำกัดของพื้นที่และภาษาทำให้ข้อจริงๆ ถูกบอกไม่หมดซึ่งข้อมูลจริงที่ถูกบอกไม่หมดในบางครั้ง(เป็นส่วนใหญ่)ก็ดีพอๆ กับข้อมูลเท็จนั่นเอง ยกตัวอย่างประโยค "เมื่อไหร่ที่มันเอาปืนมายิงคนของเรา ก็เผาบ้านมันเลย" ซึ่งในประโยคนี้จะมีเหตุประกอบอยู่ก่อนว่าถ้ามีคนเอาปืนมายิงก็ต้องไปเผาบ้านของคู่กรณีและการกระทำในลักษณะนี้เป็นการกระทำที่เรียกว่า"an eye for an eye" หรือว่าตาต่อตาฟันต่อฟันซึ่งมันจะเกิดขึ้นในกรณีที่ความเป็น"พวกกูพวกมึง"มีสูงอันไม่ใช่สิ่งที่ดีเลยแม้แต่น้อยแทนที่จะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันก่อนและสิ่งเหล่านี้มักจะเกิดในสังคมที่ระดับสติปัญญาทางความคิดมีต่ำ ไม่จำเป็นว่าการศึกษาสูงจะทำให้สติปัญญาทางความคิดมีหรือที่เรียกว่าความฉลาดทางอารมณ์มีระดับสูง ตัวชี้วัดของสังคมที่มีความฉลาดทางอารมณ์ต่ำก็คือมักจะใช้อารมณ์ในการตัดสินปัญหาเป็นหลัก ไม่ชอบการไล่เหตุไล่ผลหรือว่าตามล่าหาเหตุผลไปจนถึงที่สุด สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจาก rush hours ทำให้ไม่มีเวลาจะต้องไปตามไล่หาเหตุผลอะไรแบบนั้นจากบุคคลจริงๆ โดยตรง ในกรณีนี้สังคมเกษตรที่เข้มแข็งมักจะไม่ค่อยเป็นกันเพราะจังหวะชีวิตที่ไม่เร่งรีบทำให้จิตใจค่อนข้างจะอ่อนโยนมีความเอื้อเฟื้อนึกคนบุคคลอื่นๆ อยู่พอสมควรเพราะสังคมเกษตรจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อนที่อยู่ร่วมกันในสังคมนั่นเอง เมื่อไหร่ที่มีใจนึกถึงคนอื่นๆ คำว่า"ตัวกูของกู"หรือคำว่า"พวกมึง"จะไม่ค่อยมีเห็นใครๆ ก็มักจะเป็น"พวกกู"หรือว่าคนกันเองทั้งนั้น ซึ่งมักจะขัดกับสิ่งที่คน believe หรือเชื่อกันว่าสังคมเกษตรหรือสังคมบ้านนอกมีการใช้อารมณ์ในการแก้ไขปัญหาอย่างรุนแรงเป็นหลัก จริงๆ เท่าที่ได้เกี่ยวข้องกับสังคมชนบทมาพบว่าเค้าใช้อารมณ์ในการตัดสินเรื่องราวในระดับนึงเหมือนกันแต่ว่าเป็นอารมณ์ในเชิงบวกเป็นส่วนใหญ่ทำให้"ความฉลาดทางอารมณ์"มีสูงกว่าคนในเมือง

กลับมาถึงตัวอย่างประโยคที่กล่าวเมื่อกี๊ที่ว่า "เมื่อไหร่ที่มันเอาปืนมายิงคนของเรา ก็เผาบ้านมันเลย" เมื่อไหร่ที่ถูกข้อจำกัดด้านต่างๆ มาเกี่ยวข้องจนประโยคนี้ถูกตัดเหลือเพียงแค่ว่า "เผาบ้านมันเลย" จะกลายเป็นคนละเรื่องไปทันที คือจากคนที่เย็นพอจะรอให้อีกฝ่ายเริ่มก่อนจะกลายเป็นคนหาเรื่องในบัดดลซึ่งจะเห็นว่าข้อเท็จจริงจากข้อมูลนี้กลายเป็นคนคนละด้าน อาจารย์ผมสอนว่าความเท็จร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่น่ากลัวเท่า"จริงเจ็ดส่วนเท็จสามส่วน"หรือการ"บอกความจริงไม่หมด"นั่นเองเพราะว่ามันจะน่าเชื่อมากๆ ตัวอย่างประโยคที่กล่าวมาคงพอจะทำให้เห็นภาพได้บ้างความแค่ตัดประโยคส่วนหน้าออกก็ทำให้เรื่องราวเปลี่ยนไป ดังนั้นจากทีี่ผมเคยเจอมาด้วยตัวเองของบอกได้ว่าวิธีนี้ในบ้านเราเมืองเราใช้กันเยอะและทำให้คนในระดับกลางๆ ค่อนไปสูงมักจะถูกหลอกด้วย fact เป็นประจำเพราะคิดว่าได้ข้อมูลครบแล้วซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย ถ้าไล่กันจริงๆ จะพบว่า fact ที่ได้รับกันนั้นมักจะสาวไปไม่ถึงเหตุจริงๆ ของเรื่องราวแต่ด้วย"ตัวกูของกู"มักจะถูกกลุ่มคนกลุ่มนึงบิดภาพความเชื่อและบิดเบือนความคิดชักจูงให้เพี้ยนมีความเชื่อผิดๆ ไปได้ง่ายๆ interact หรือว่าปฎิสัมพัทธิ์โดยตรงกับแหล่งข้อมูลมักจะไม่มี ถ้ามีก็อยู่ในกลุ่มแคบๆ ในคนที่มีความคิดเหมือนกันเท่านั้นและคำว่า"พวกกูพวกมึง"นี่แหละทำให้แบ่งแยกเป็นก๊กแตกกันเป็นสีอยู่ในทุกวันนี้ เพราะสังคมกลายเป็น"สังคมรอฟัง(หรืออ่าน) fact จากคนหรือสื่อที่เรา believe" มากกว่าที่จะเป็น"สังคมรอคุย fact จากคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ จริงๆ เพื่อจะได้ truth" เหตุเพราะไม่เคยเปิดใจรับฟังอีกฝ่ายอย่างแท้จริงเหตุเพราะว่าไม่คุ้นหรือว่าดูถูกคนอื่นแค่นั้นเอง ซึ่งตอนนี้ก็ต้องยอมรับกันว่าจะให้เข้าใจและได้รับข้อมูลจริงๆ จากสื่่อนั้นเป็นไปได้ยากมาก ขอบอกว่าถ้าไม่ได้ขึ้นหน้าสื่อเองจะไม่มีวันทราบเลยว่าเรื่องราวบิดไปได้ขนาดไหนจากประสบการณ์ตรงที่ต้องเกี่ยวข้องกับคดีความตั้งแต่สมัยเรียนขอบอกว่าซึ้งครับ ซึ่งจุดอ่อนตรงนี้ของคนไทยถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายชาติมาหลายยุคหลายสมัย คำว่าชาติในที่นี้หมายถึงระบบและทุกภาคส่วนที่รวมกันเป็นประเทศนี้ไปจนถึงบุคคลทุกคนในประเทศในทุกระดับชั้นสังคมการศึกษาอาชีพและรายได้


มาถึงตรงนี้อยากจะบอกเพียงแค่ว่าอย่าให้อารมณ์กลุ่มคนและ fact ที่ถูกส่งผ่านมาไม่หมดทำลายตัวเราเลย เมื่อเกิดเรื่องราวอะไรขึ้นมาซักเรื่องของให้ใจเย็นฉุกคิดพิจารณามองในแง่ดีไว้ก่อนเพื่อเปิดใจที่จะรับฟังในเบื้องต้น จากนั้นก็ค่อยรวบรวม fact เท่าที่หาได้โดย"เอาใจเขามาใส่ใจเรา"ดูจริงๆ ถ้าอคติในใจเรามีไม่มากผมเชื่อว่าเราจะตอบตัวเองได้เองว่า fact ที่เราเคยเชื่อว่ามันเป็น fact มันบางทีอาจจะไม่ใช่ truth ตามที่เราเคยเชื่อก็เป็นได้...

ขอบคุณพี่ชายที่น่าเคารพท่านนั้นอีกทีที่ทำให้ประเด็นในใจของผมเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ชัดขึ้นมาอีกระดับนึงเพราะทำให้ผมต้องกลับมาหยุดคิดและหา fact เพิ่มเติมจน truth ในใจเด่นขึ้นมาทำให้ believe ในใจมีมากขึ้นไปอีกว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันถูกต้องแล้ว สุดท้ายก็พบว่า believe ในใจที่ประกอบไปด้วย fact และ truth นั้นกลายเป็นคำว่า"ศรัทธา"หรือว่า faith นั่นเอง

Believe Fact Truth ตอนที่ 1

มีพี่ชายที่เคารพท่านนึงฝากข้อคิดมาในเรื่องของเกณฑ์ในการตัดสินเหตุการณ์ว่าไม่ควรจะปักใจเชื่อในสิ่งที่ตนเองอาจจะคิดเอาเองน่าจะพิจารณาตามหลักเหตุและผลโดยให้เกณฑ์การตัดสินมา 4 อย่างแต่หลังจากที่อ่านไปแล้วสำหรับคนที่ใช้ชีวิตตามปกติทั่วไปผมเองคิดว่าน่าจะแค่ 3 ก็พอ(ถ้าว่าตามเกณฑ์ที่ท่านแนะนำ)คือพิจารณาจาก believe, fact และ truth คือความเชื่อส่วนตัว ข้อเท็จจริง แล้วก็ความจริง

โดยส่วนตัวเกณฑ์เหล่านี้เป็นส่ิงที่ใช้ในการตัดสินพิจารณาเรื่องราวต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้วเพราะในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งต้องรับฟังคนในระดับต่างๆ และนำข้อมูลผ่านไปยังบอร์ดเพื่อพิจารณานั้นจะเอาแค่ความเชื่อส่วนตัวของเราเองเพียงเท่านั้นไม่ได้เพราะว่าความเห็นส่วนตัวย่อมมีอคติเจืออยู่แน่นอนและตัวอคตินี้เองที่เป็นตัวสร้างปัญหาให้เกิดกับสังคมมาตั้งแต่สมัยโบราณ หลายๆ ครั้งเมื่อได้รับฟังเรื่องราวต่างๆ ก่อนที่จะผ่านเรื่องนั้นไปยังคนที่รับผิดชอบโดยปกติถ้าจะให้เรื่องราวจบเร็วสิ่งที่ควรทำก็คือเรียกผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ มาพร้อมกันแล้วก็ฟังทั้งสองฝ่ายพูดโดยเราต้องทำหน้าที่เป็นคนสรุปประเด็นให้เป็นระยะ เมื่ออยู่กันต่อหน้าโดยปกติก็จะเห็นเลยว่าฝ่ายไหนที่เป็นฝ่ายที่เข้าใจผิด ที่ต้องบอกว่าเข้าใจผิดเพราะว่าคนทั่วไปมักจะมองแต่ในมุมของตนเองเท่านั้นถ้าไม่ใช่คนที่แฟร์มากจริงๆ มักจะไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นและมักจะเชื่อตามข้อมูลที่ตัวเองพอใจเท่านั้นและหลงเชื่อว่า fact นั้นๆ ที่ได้รับฟังมาจากคนอื่นคือ truth โดยเฉพาะข้อ"เท็จ""จริง"จากคนที่น่าเชื่อถือมักจะกลายเป็น truth เสมอๆ หรือเอาง่ายๆ เป็นภาษาไทยจากข้อเท็จจริงก็จะเหลือแค่ข้อจริงเท่านั้นนั่นเอง

โดยปกติเกณฑ์การตัดสินเรื่องราวต่างๆ มักจะไม่หนีเรื่องของสามัญสำนึกและเรื่องของเหตุผลที่มาและที่ไปซึ่งก็มีอยู่หลายระดับตามแต่ข้อมูลที่มีในมือ ข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่สุดคือข้อมูลที่รับเองโดยตรงไม่ผ่านบุคคลที่สองสามสี่ห้า เรื่องของสามัญสำนึกนี้เป็นเรื่องใหญ่ถ้าเกี่ยวเร่ืองของความขัดแย้งแล้วละก็ หลักการของเราเองผู้ที่ตัดสินต้องแม่นโดยไปศึกษาจากแหล่งข้อมูลในเรื่องนั้นๆ ให้มากที่สุดทั้งกฎหมาย ขนบธรรมเนียมและแม้แต่เรื่องของกฎแห่งกรรมที่แต่ละศาสนาได้สอนเอาไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเมตตาธรรม ผมเองถือว่าโชคดีที่ต้องเดินทางไปตามที่ต่างๆ ได้เจอคนมากหลายหลากหลายอาชีพได้รับฟังเร่ืองราวต่างๆ มากมายโดยเฉพาะช่วงหลังๆ สามสี่เดือนมานี้เลยพอได้เห็นภาพอะไรหลายๆ อย่างที่บางทีก็สะท้อนใจเหมือนกันเนื่องจากความสับสนของคนในสังคมโดยเฉพาะคนในระดับกลางที่หลงคิดว่า believe ที่เกิดจาก fact ของตนนั้นคือ truth

ดีกรีของความเข้าใจในบุคคลกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มคนที่เราคุ้นเคยนั้นการเปิดใจเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดและเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำเพราะว่าเรื่องที่เราจะได้รับฟังนั้นโดยปกติจะขัดกับสิ่งที่เรา"เชื่อ"อยู่เสมอๆ ดังนั้นถ้าใจไม่เปิดกว้างมากพอแล้วละก็อคติที่ปิดกั้นความคิดที่จะต้องนำไปใช้พิจารณานั้นมักจะทำให้เราหลงประเด็นอยู่เสมอๆ ผมเชื่อว่าสำหรับคนทั่วไปนั้นในถูกมีผิดและในผิดมีถูกและมักจะเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอด ดังนั้นถ้าต้องมีการพูดคุยกันในเรื่องประเด็นความขัดแย้งเท่าที่ตัวเองได้ศึกษาดูอาจารย์และหัวหน้างานที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายสิบปีพบว่าสิ่งแรกที่หัวโต๊ะ(คือคนที่ต้องพิจารณาและเป็นคนตัดสินเรื่องราวนั้นๆ)ต้องทำก็คือให้หลักการและหลักเกณฑ์ในเรื่องนั้นๆ แก่ผู้ที่ขัดแย้งกันซะก่อน เพราะว่าเมื่อไหร่ก็เกิดความขัดแย้งอารมณ์มักจะมาก่อนเหตุผลเสมอถ้าไม่มีหลักการชัดเจนในเรื่องนั้นๆ เถียงกันไปสิบชาติครึ่งก็ไม่จบเพราะอคติมันบีบให้ใจแคบให้คิดออกจากตัวไม่เกินห้ามิลลิเมตรนั่นเอง และเมื่อไหร่อคติเกิดสามัญสำนึกก็จะหายไปในทันที ซึ่งจะว่าไปสามัญสำนึกเป็นเรื่องที่คิดตามได้ง่ายมากๆ ถ้าใจเปิดกว้างมากพอเพราะว่าสิ่งที่ทุกคนต้องการมักจะไม่หนีกันเท่าไหร่ ถ้าใจปิดสามัญสำนึกร่อยหรอคำว่า"เอาใจเขามาใส่ใจ"เราตามสำนวนบ้านเราจะหายไปในทันที และจะเหลือแต่แค่คำว่า"ตัวกูของกู"เท่านั้นแท้ๆ เรื่องของการแบ่งชนชั้นวรรณะส่วนหนึ่งก็เกิดจากสามัญสำนึกที่จางหายไปนั่นเอง เมื่อมีแต่"ตัวกูของกู"คำว่า"พวกกูพวกมึง"ก็จะตามมานี่และ "ตัวกูของกู"นี่แหละคือตัวหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมในทุกวันนี้..

ผู้ติดตาม