วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เรื่องของน้ำ.. ตอนที่1

อีกสองวันจะครบหนึ่งเดือนเต็มที่ต้องต่อรองรับมือและทำความรู้จักกับน้ำทำให้รู้จักกับ"น้ำ"และผู้ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำดีขึ้นไปอีกระดับนึงและที่สำคัญที่สุดทำให้รู้จักกับจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองและองค์กรมากขึ้นด้วยทำให้ต้องกลับมาคิดวางแผนปรับปรุงระบบในบางส่วนพร้อมทั้งเสริมจุดแข็งเดิมให้มีมากขึ้นซึ่งต้องนี้ก็ต้องขอขอบคุณ"น้ำ"มา ณ. ที่นี้ด้วยใจจริง

ส่วนตัวคิดว่าในจุดที่เสียมีดีและในจุดที่ดีก็มีเสียซ่อนอยู่เสมอขอเพียงค้นหามันให้เจอจะให้ดีต้องเลือกมองแต่สิ่งที่ดีเท่านั้นในการเลือกจะพัฒนาให้มีมากขึ้นส่วนจุดอ่อนก็เอาไว้แก้ไขปรับปรุงแม้จะต้องให้ความสำคัญกับจุดอ่อนเป็นอันดับแรกแต่ไม่ใช่ว่าต้องจมปลักอยู่กับเรื่องนั้นๆ มิเช่นนั้นจะพัฒนาเดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้ คนที่จมอยู่กับอดีตไม่มีทางที่จะทำให้อนาคตของตัวเองสดใสได้ มาถึงวันนี้น้ำก็คงจะไม่มีผลอะไรกับตัวผมเองมากเท่าไหร่ทำให้พอจะหายใจหายคอแวะมาเขียนบันทึกเอาไว้เตือนใจตัวเองและเผื่อว่าบางทีหากมีใครบังเอิญมาอ่านก็คงพอจะได้อะไรเล็กๆ น้อยๆ ติดไปบ้างนิดหน่อย

ตั้งแต่เด็กมาผมเองชอบนั่งเล่นกับน้ำเพราะเป็นสิ่งเดียวที่เด็กที่บ้านติดทุ่งนาจะมีอะไรทำให้หายน่าเบื่อ จำได้ว่าพอหน้าฝนน้ำก็จะล้นเข้ามาทางคูหลังบ้านที่พ่อกับแม่ได้ขุดให้มันผ่านกำแพงเข้ามาซึ่งก็มารู้ตอนหลังว่ามันผุดลอดใต้คานกำแพงมาและเพื่อกันไม่ใช้น้ำเซาะกำแพงพังทั้งแนวก็ต้องเปิดช่องให้มันผ่านออกพ้นพื้นที่บ้านไปอีกฟากนึง คูนี้เองที่ว่างๆ ผมชอบเอาตุ๊กตุ่นตุ๊กตาที่มีไปลอยบนแพเล็กๆ เล่นไม่ก็หาประทัดจุดโยนลงไปในนั้นเพื่อจะลองดูว่าเสียงมันจะเป็นอย่างไรก็พบว่าควันที่แตกในน้ำมันกลายเป็นฟองน้ำสีขาวๆ ค่อยๆ ลอยขึ้นมาแตกบนผิวน้ำกลายเป็นควันขึ้นมาซึ่งเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กๆ บ้านนอก แต่ก็ไม่เคยสนใจอะไรกับมันมากนักรู้อยู่อย่างเดียวว่าถ้าอยากให้น้ำมันไปทางไหนก็หาเสียมหาจอบไปขุดให้มันออกไปลงท่อหรือออกไปตามคูที่เราได้ขุดเตรียมไว้หลังบ้านก็เท่านั้นเอง

มาถึงวันนี้เมื่อต้องมาเกี่ยวข้องกับน้ำที่กำลังเอ่อล้นทุ่งเข้ามาหาเหมือนตอนสมัยเด็กแต่ก็ไม่เหมือนกันโดยทีเดียวนักที่ต่างกันก็คือว่าโดยปริมาณน้ำที่ล้นทุ่งเข้ามาว่ากันเป็นล้านๆ ลูกบาศก์เมตรส่วนจะเป็นกี่ล้านนั้นก็ยากจะบอก ถามว่าทำไมถึงยากจะก็บอกสาเหตุก็เป็นเพราะน้ำทุ่งนี้ยังคงมีปริมาณน้ำเข้ามาเติมเรื่อยๆ จากหลายแหล่งไม่ว่าจะเป็นคูคลองที่เชื่อมต่อกับเขื่อนรวมไปถึงแม่น้ำอีกหลายสายที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทำให้การคำนวณปริมาณเป็นไปไม่ง่ายแม้แต่อดีตวิศวชลประทานที่มีประสบการณ์ยังคำนวณผิด แต่ในเมื่อมันไหลมาหาแล้วก็คงจะต้องลองป้องกันพื้นที่บ้านดูกันซักตั้งว่าจะเอาอยู่อย่างที่หลายๆ ท่านในบ้านในเมืองพูดกันได้หรือไม่

เมื่อเอ่ยถึงน้ำก็คงต้องมามองถึงปกติของมันก่อนว่ามีธรรมชาติเป็นอย่างไร (ตามประสบการณ์ที่ได้เจอมาอาจจะไม่เป็นวิชาการนักคงจะเอาไปใช้อ้างอิงได้บ้างแต่คงต้องหาข้อมูลเพิ่ม)

1. น้ำเป็นของเหลวสามารถจะไหลได้และจะไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำเสมอ เมื่อไหร่ที่อยากจะให้น้ำไหลจากที่ต่ำไปสู่ที่สูงก็สามารถทำได้เหมือนกันคือใช้การสูบซึ่งผู้ที่ศึกษาทางด้านการบริหารจัดการน้ำจะทราบดี
2. เมื่อมีการกั้นทางเดินของมันเกิดขึ้นจะพบว่าน้ำจะหาทางไหลไปในทางที่มันไปได้ง่ายก่อน แต่ถ้าปริมาณน้ำมากพอตัวมันเองก็จะพยายามทลายสิ่งที่กีดขวางอยู่ตรงหน้าด้วย ดังนั้นถ้าคิดจะสู้กับมันอย่าพยายามกั้นแต่พยายามเบี่ยงเบน ชะลอ เชื้อเชิญน้ำให้มันไหลไปในทางที่เราต้องการโดยจะขุดคูคลองสูบหรืออะไรก็ตามแต่สะดวก
3. สามาถปรับเปลี่ยนรูปร่างและระดับได้ตามวัสดุที่กักเก็บหรือเมื่อมีของแข็งเข้าไปแทรกอยู่ในตัวของมันก็จะปรับระดับสูงต่ำตามปริมาตรที่ถูกแทนที่
4. เมื่อไหลไปในระยะทางไกลๆ จะเริ่มแผ่ตัวมันเองไปในวงกว้างทำให้ความสูงของระดับน้ำลดลงไปเรื่อยๆ แปรผันตามระยะทางของการไหล
5. สิ่งที่สำคัญที่สุดคือน้ำมีแรงดันตรงระดับพื้นมากกว่าตรงระดับผิวน้ำ โดยจะมีแรงดันหนึ่งตันต่อหนึ่งตารางเมตรที่ระดับความลึกหนึ่งเมตร และก็แปรผันไปตามความลึกเรื่อยๆ ถ้าลึกสามเมตรก็จะมีแรงดันที่พื้นผิวสามตันต่อตารางเมตรนี่เองเป็นเหตุผลว่าทำไมน้ำถึงดันลอดกำแพงได้และนีี่เองเลยเป็นสูตรในการออกแบบเขื่อน พนังหรือแม้แต่การเรียงกระสอบทรายกันน้ำว่าความกว้างของฐานว่าอย่างน้อยต้องเป็นสามเท่าของความสูงถึงจะพอยันกับแรงดันของน้ำได้

เมื่อพอเข้าใจหลักการง่ายๆ แบบชาวบ้านนี้แล้วจากนี้ไปก็ถึงเวลาเตรียมตัววางแผนในการต่อกรและต่อรอง(ไม่ได้เขียนผิดนะครับต้องต่อรองกันว่าถ้าไม่ให้เค้าไปทางนี้เราจะให้เค้าไปทางไหนถ้าเค้าโอเคก็จะไหลไปตามทางที่เราได้ต่อรองกับเค้าไว้คล้ายๆ กับการต่อรองกันในความเป็นจริง)กับน้ำได้ ซึ่งก็คงต้องมาว่ากันอีกทีหลังจากนี้..

ผู้ติดตาม