สภาพโดยรวมของกรุงไคโรและชานเมืองถือว่าอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างย่ำแย่แต่ก็ดีกว่าประเทศในตะวันออกกลางอีกหลายๆ ประเทศเหมือนกันเพราะอย่างน้อยรายได้ประจำที่ได้จากการท่องเที่ยวก็สามารถเลี้ยงประเทศได้อย่างไม่ลำบากมากนัก เมื่อไปถึงทีแรกก็นึกว่าคงจะได้เจอสภาพที่แห้งแล้งเหมือนกับประเทศที่ตั้งอยู่ในทะเลทรายทั่วไปแต่ว่าสำหรับกรุงไคโรนั้นกลับเขียวชะอุ่มเนื่องจากมีแน่น้ำไนล์ไหลเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงตั้งแต่ตอนล่างมาถึง Upper Egypt หรืออียิปต์ตอนบนซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในยุคโบราณย้อนกลับไปสี่ห้าพันปีก่อน
แม่น้ำไนล์มีความแตกต่างจากแม่น้ำอื่นๆ ในโลก็คือว่าจะไหลจากใต้ขึ้นเหนือโดยมี"เขื่อนอัสวาน" (Aswan Dam) ที่ประเทศสหภาพโซเวียตได้มาสร้างไว้ให้เป็นกันและเก็บกักน้ำไว้ไม่ให้มาท่วมกรุงไคโรในฤดูน้ำหลาก(ส่วนมากก็ปลายๆ หน้าร้อนของที่นั่น)ว่ากันว่าสมัยก่อนน้ำได้ท่วมมาถึงปีรามิดที่กิซ่า(เมืองพี่น้องคนละฝั่งแม่น้ำไนล์กับกรุงไคโร)กันเลยทีเดียว หลังจากสร้างเสร็จแล้วหน้าเขื่อนกลายเป็นทะเลสาบนัสซอร์ซึ่งตั้งล้อตามชื่อของประธานาธิบดี Nasser ประธานาธิบดีคนที่สองของประเทศอียิปต์และประธานาธิบดีคนแรกของ United Arab Republic ผู้ที่ปรารภเหตุในการสร้าง จะว่าไปเขื่อนนี้จะเรียกว่าเป็น"เขื่อนการเมือง"ก็ได้เพราะว่า Nasser อาศัยช่องของสงครามเย็นเป็นตัวดึงเอาต่างชาติเข้ามาสร้างให้เพื่อความสันพันธ์ทางการทูตและยุทธศาสตร์ในยุคโน้นแต่สำหรับชาวอียิปต์ในปัจจุบันจะรู้จักเขื่อนนี้กันในนามของ High Dam สิ่งสำคัญที่เกิดคู่กับการสร้างเขื่อนนี้ก็คือการย้ายมหาวิหาร Abu Zimbel จากตำแหน่งที่ตั้งดั้งเดิมขึ้นมาให้พ้นจากบริเวณที่จะต้องจมอยู่ในน้ำหลังเขื่อนสร้างเสร็จ ซึ่งงานนี้ยิ่งกว่างานช้างอีกแต่ก็ทำได้สำเร็จในที่สุดแต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่อาจจะกู้กลับคืนมาได้ก็คือว่าตำแหน่งของมหาวิหารหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในยุคโบราณของประเทศอียิปต์นั้นจะถูกออกแบบไว้ให้ตั้งล้อกับดวงดาวหรือไม่ก็ดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอันเป็นรู้จักกันในนามว่า "รา" นั่นเอง หลังจากที่ย้ายมหาวิหาร Abu Zimbel จากตำแหน่งที่ตั้งเดิมแล้วแสงอาทิตย์ที่เคยตกกระทบกับใบหน้าของเทวรูปพอดีกลับเคลื่อนไปไม่ว่าจะหาทางแก้ยังไงก็ไม่เหมือนเดิมนอกจากจะยกกลับไปตั้งที่เดิมซึ่งก็คงจะเป็นไปไม่ได้
บริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ไปจนถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมีความเขียวชอุ่มอยู่พอสมควรเลยทีเดียว ถ้าวิ่งออกจากเมืองไปหน่อยสภาพสิ่งแวดล้อมข้างทางเหมือนขับรถออกไปแถวๆ อยุธยาไม่มีผิด มีแม้กระทั่งควายน้ำแบบเดียวกับบ้านเราแต่ว่าตัวเล็กกว่า สองข้างทางก็ปลูกกระหล่ำปลูกพืชผักคล้ายๆ กับบ้านเราเหมือนกัน แล้วก็มีฝ้ายซึ่งนับว่าเป็นฝ้ายที่มีคุณภาพดีมากๆ จนบ้านเราก็เอาเมล็ดฝ้ายจากที่นั่นมาปลูกเหมือนกันแต่ถ้าเทียบงานฝีมือในการถักทอแล้วละก็ของบ้านเรามีความละเอียดมากกว่าอย่างเห็นได้ชัดแม้แต่คนที่นั่นก็ยังยอมรับว่างานสิ่งของของเรานั้นดีกว่าเค้ามาก จะว่าไปอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยนั้นไม่แพ้ชาติไหนในโลกทั้งนักออกแบบช่วงตัดเย็บของบ้านเรานั้นฝีมือไม่เป็นรองใครน่าเสียดายที่ยังไม่ได้มีการส่งเสริมจากฝั่งรัฐเท่าที่ควรจะเป็นเท่าที่ดูคล้ายๆ กับว่ากระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงต่างประเทศไม่ได้ประสานงานกันเท่าไหร่แม้จะมีทูตพาณิชย์ไปอยู่ตามประเทศต่างๆ อยู่แล้วก็ตามที
มาถึงตรงนี้แล้วสำหรับวันนี้ดูท่าคงจะไม่จบคงจะต้องมาว่ากันต่อวันหน้าแล้วหละ..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น