วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Believe Fact Truth ตอนที่ 1

มีพี่ชายที่เคารพท่านนึงฝากข้อคิดมาในเรื่องของเกณฑ์ในการตัดสินเหตุการณ์ว่าไม่ควรจะปักใจเชื่อในสิ่งที่ตนเองอาจจะคิดเอาเองน่าจะพิจารณาตามหลักเหตุและผลโดยให้เกณฑ์การตัดสินมา 4 อย่างแต่หลังจากที่อ่านไปแล้วสำหรับคนที่ใช้ชีวิตตามปกติทั่วไปผมเองคิดว่าน่าจะแค่ 3 ก็พอ(ถ้าว่าตามเกณฑ์ที่ท่านแนะนำ)คือพิจารณาจาก believe, fact และ truth คือความเชื่อส่วนตัว ข้อเท็จจริง แล้วก็ความจริง

โดยส่วนตัวเกณฑ์เหล่านี้เป็นส่ิงที่ใช้ในการตัดสินพิจารณาเรื่องราวต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้วเพราะในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งต้องรับฟังคนในระดับต่างๆ และนำข้อมูลผ่านไปยังบอร์ดเพื่อพิจารณานั้นจะเอาแค่ความเชื่อส่วนตัวของเราเองเพียงเท่านั้นไม่ได้เพราะว่าความเห็นส่วนตัวย่อมมีอคติเจืออยู่แน่นอนและตัวอคตินี้เองที่เป็นตัวสร้างปัญหาให้เกิดกับสังคมมาตั้งแต่สมัยโบราณ หลายๆ ครั้งเมื่อได้รับฟังเรื่องราวต่างๆ ก่อนที่จะผ่านเรื่องนั้นไปยังคนที่รับผิดชอบโดยปกติถ้าจะให้เรื่องราวจบเร็วสิ่งที่ควรทำก็คือเรียกผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ มาพร้อมกันแล้วก็ฟังทั้งสองฝ่ายพูดโดยเราต้องทำหน้าที่เป็นคนสรุปประเด็นให้เป็นระยะ เมื่ออยู่กันต่อหน้าโดยปกติก็จะเห็นเลยว่าฝ่ายไหนที่เป็นฝ่ายที่เข้าใจผิด ที่ต้องบอกว่าเข้าใจผิดเพราะว่าคนทั่วไปมักจะมองแต่ในมุมของตนเองเท่านั้นถ้าไม่ใช่คนที่แฟร์มากจริงๆ มักจะไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นและมักจะเชื่อตามข้อมูลที่ตัวเองพอใจเท่านั้นและหลงเชื่อว่า fact นั้นๆ ที่ได้รับฟังมาจากคนอื่นคือ truth โดยเฉพาะข้อ"เท็จ""จริง"จากคนที่น่าเชื่อถือมักจะกลายเป็น truth เสมอๆ หรือเอาง่ายๆ เป็นภาษาไทยจากข้อเท็จจริงก็จะเหลือแค่ข้อจริงเท่านั้นนั่นเอง

โดยปกติเกณฑ์การตัดสินเรื่องราวต่างๆ มักจะไม่หนีเรื่องของสามัญสำนึกและเรื่องของเหตุผลที่มาและที่ไปซึ่งก็มีอยู่หลายระดับตามแต่ข้อมูลที่มีในมือ ข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่สุดคือข้อมูลที่รับเองโดยตรงไม่ผ่านบุคคลที่สองสามสี่ห้า เรื่องของสามัญสำนึกนี้เป็นเรื่องใหญ่ถ้าเกี่ยวเร่ืองของความขัดแย้งแล้วละก็ หลักการของเราเองผู้ที่ตัดสินต้องแม่นโดยไปศึกษาจากแหล่งข้อมูลในเรื่องนั้นๆ ให้มากที่สุดทั้งกฎหมาย ขนบธรรมเนียมและแม้แต่เรื่องของกฎแห่งกรรมที่แต่ละศาสนาได้สอนเอาไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเมตตาธรรม ผมเองถือว่าโชคดีที่ต้องเดินทางไปตามที่ต่างๆ ได้เจอคนมากหลายหลากหลายอาชีพได้รับฟังเร่ืองราวต่างๆ มากมายโดยเฉพาะช่วงหลังๆ สามสี่เดือนมานี้เลยพอได้เห็นภาพอะไรหลายๆ อย่างที่บางทีก็สะท้อนใจเหมือนกันเนื่องจากความสับสนของคนในสังคมโดยเฉพาะคนในระดับกลางที่หลงคิดว่า believe ที่เกิดจาก fact ของตนนั้นคือ truth

ดีกรีของความเข้าใจในบุคคลกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มคนที่เราคุ้นเคยนั้นการเปิดใจเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดและเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำเพราะว่าเรื่องที่เราจะได้รับฟังนั้นโดยปกติจะขัดกับสิ่งที่เรา"เชื่อ"อยู่เสมอๆ ดังนั้นถ้าใจไม่เปิดกว้างมากพอแล้วละก็อคติที่ปิดกั้นความคิดที่จะต้องนำไปใช้พิจารณานั้นมักจะทำให้เราหลงประเด็นอยู่เสมอๆ ผมเชื่อว่าสำหรับคนทั่วไปนั้นในถูกมีผิดและในผิดมีถูกและมักจะเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอด ดังนั้นถ้าต้องมีการพูดคุยกันในเรื่องประเด็นความขัดแย้งเท่าที่ตัวเองได้ศึกษาดูอาจารย์และหัวหน้างานที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายสิบปีพบว่าสิ่งแรกที่หัวโต๊ะ(คือคนที่ต้องพิจารณาและเป็นคนตัดสินเรื่องราวนั้นๆ)ต้องทำก็คือให้หลักการและหลักเกณฑ์ในเรื่องนั้นๆ แก่ผู้ที่ขัดแย้งกันซะก่อน เพราะว่าเมื่อไหร่ก็เกิดความขัดแย้งอารมณ์มักจะมาก่อนเหตุผลเสมอถ้าไม่มีหลักการชัดเจนในเรื่องนั้นๆ เถียงกันไปสิบชาติครึ่งก็ไม่จบเพราะอคติมันบีบให้ใจแคบให้คิดออกจากตัวไม่เกินห้ามิลลิเมตรนั่นเอง และเมื่อไหร่อคติเกิดสามัญสำนึกก็จะหายไปในทันที ซึ่งจะว่าไปสามัญสำนึกเป็นเรื่องที่คิดตามได้ง่ายมากๆ ถ้าใจเปิดกว้างมากพอเพราะว่าสิ่งที่ทุกคนต้องการมักจะไม่หนีกันเท่าไหร่ ถ้าใจปิดสามัญสำนึกร่อยหรอคำว่า"เอาใจเขามาใส่ใจ"เราตามสำนวนบ้านเราจะหายไปในทันที และจะเหลือแต่แค่คำว่า"ตัวกูของกู"เท่านั้นแท้ๆ เรื่องของการแบ่งชนชั้นวรรณะส่วนหนึ่งก็เกิดจากสามัญสำนึกที่จางหายไปนั่นเอง เมื่อมีแต่"ตัวกูของกู"คำว่า"พวกกูพวกมึง"ก็จะตามมานี่และ "ตัวกูของกู"นี่แหละคือตัวหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมในทุกวันนี้..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม