วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ไอยคุปต์ในความทรงจำ part 2

อารยธรรมอียิปต์รุ่งเรืองอยู่เป็นเวลานานด้วยฝีมือการบริหารของฟาโรห์หลายราชวงศ์ในยุคสี่พันปีก่อนก็ต้องถือว่าเทคโนโลยีและการสถาปัตย์รวมไปถึงการเมืองการปกครองของอียิปต์นั้นสุดยอดมากๆ ฟาโรห์หลายพระองค์ก็ทรงมีพระอัจฉริยภาพมากแต่ก็มีอีกหลายๆ องค์ที่บริหารไม่ค่อยดีนักทำให้เกิดปัญหาภายในแผ่นดินทำให้เกิดการล้มราชวงศ์ตามมาในที่สุด ฟาโรห์องค์เจ๋งๆ เช่นรามเสสที่ ๒(Ramesses II) ได้สร้างอนุสรณ์สถานหลายๆ อย่างทิ้งไว้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและมรดกทางสถาปัตยกรรมให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

หลายคนอาจจะมองว่าจะมีประโยชน์อะไรที่ไปดูเศษหินเศษดินถึงที่โน่นแต่อยากจะบอกว่าเศษหินเศษดินเหล่านั้นเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ถูกปกครองมีต่อกษัตริย์ของเค้าถ้ารู้จักมอง การเค้นศักยภาพคนออกมาให้คิดสร้างอะไรขึ้นมาซักอย่างนั้นบางทีอาศัยระยะเวลาทั้งชีวิตของบุคคล หลายๆ ชิ้นใช้เวลาหลายชั่วอายุคนจึงจะแล้วเสร็จ ประเด็นหลักที่ควรจะสนใจก็คือทำอย่างไรถึงจะรีดศักยภาพของคนให้คิดทำสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาได้ หลายท่านก็บอกว่าก็ใช้กำลังทหารบังคับให้ทำสิซึ่งก็มีส่วนถูกแต่ว่าการที่จะสั่งสมศรัทธาและบารมีให้มากพอจะสั่งให้ทหารเป็นแสนนายทำตามที่ตัวเองต้องการก็ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง

การได้ไปอยู่ในสถานที่จริงแล้วยิ่งได้ศึกษาประวัติศาสตร์ก่อนที่จะเดินทางไปยังสถานที่นั้นๆ ด้วยจะทำให้การเดินทางไปนั้นไม่สูญเปล่าอีกทั้งบางทียังจะได้แง่คิดมุมมองอะไรที่ต่างจากที่เคยได้รับรู้เป็นการมองจากมุมของคนในพื้นที่หลายๆ ครั้งก็จะได้ข้อมูลที่น่าสนใจยกตัวอย่างเช่นว่าเท่าที่ได้ศึกษามาการก่อสร้างปีรามิดได้ใช้แรงงานทาสมากมายแล้วทาสเหล่านั้นก็ถูกกดขี่ห่มเหงอย่างไม่ปราณีระหว่างการก่อสร้างซึ่งก็เป็นอีกมุมมองนึงซึ่งเป็นไปได้ แต่ก็มีอีกมุมมองนึงที่พอได้ไปยืนอยู่ตรงนั้นได้เห็นสุสานของทาสอยู่รอบๆ ปีรามิดซึ่งไกด์ก็ได้บอกว่าถ้าเกิดมีการทารุณกรรมทาสจริงก็ไม่มีความจำเป็นว่าต้องสร้างสุสานไว้ให้โดยรอบซึ่งก็อาจจะมองว่าก็จะได้ตามไปเป็นทาสในชีวิตหลังความตายตามความเชื่อของเพแกน(ศาสนาหลักในยุคนั้นที่ถือเอาเทพเจ้าเป็นที่พึ่ง) แต่ก็ถือว่าได้ข้อมูลอีกด้านจากคนในพื้นที่ซึ่งโชคดีว่าการไปรอบนี้ได้ไกด์ซึ่งเรียนอยู่ในระดับปริญญาเอกมีการวิเคราะห์เรื่องราวหลายต่อหลายเรื่องให้ฟังซึ่งก็น่าสนใจและมีความเป็นไปได้สูงมากเลยทีเดียว

ส่วนตัวที่ได้ฟังจากไกด์มาได้ทราบว่ายุคโน้นเกิดปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ทำให้ฟาโรห์มีความจำเป็นต้องแก้ไขแต่ว่าจะให้เอาสมบัติไปแจกก็คงจะเกิดจราจลขึ้นกลางเมืองดังนั้นจึงคิดสร้างงานให้มีการหมุนเวียนของสินทรัพย์ลงไปในถุงเงินหลักที่แฟบอยู่ซึ่งง่ายสุดก็คงจะหนีไม่พ้นการสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ซึ่งสามารถจะหมุนเวียนคนเข้ามาทำงานแล้วก็รับค่าตอบแทนไปใช้จ่ายแล้วก็จะพอช่วยให้เศรษฐกิจและปัญหาสังคมค่อยๆ ลดน้อยลงไปได้ เมื่อมีงานก็มีเงินเมื่อมีเงินก็มีการใช้จ่ายซื้อของเกิดการหมุนเวียนของเงินซึ่งไม่ว่ายุคไหนก็เป็นแบบนี้ คล้ายๆ กับตอนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า the great depression ก็มีการตัดทางด่วนระหว่างรัฐ(interstate) ขึ้นเพื่อช่วยสร้างความหวังโดยการขายฝันให้กับประชาชนว่าหลังจากที่ทางด่วนระหว่างรัฐนี้สร้างเสร็จเงินก็จะไหลเวียนไปได้สะดวกการค้าและเศรษฐกิจทุกอย่างจะฟื้นตัวขึ้นมาซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ดังที่บอกไว้ว่า "เมื่อมีการสร้างงานก็มีการจ้างงาน เมื่อมีการจ้างงานก็มีการจ่ายค่าตอบแทน เมื่อมีค่าตอบแทนการจับจ่ายใช้สอยก็เกิดขึ้นตามมา" ทำให้มีเงินเข้าไปหมุนในระบบเศรษฐกิจในที่สุด เหตุการณ์ในสมัยโบราณก็คงจะเป็นไปในทำนองเดียวกันดังนั้นหากผู้บริหารบ้านเมืองมีความฉลาดก็สามารถจะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสบางครั้งก็สามารถพลิกสนามรบเป็นสนามการค้าโดยการแบ่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกันพูดง่ายๆ ก็คือ"ปันกันกินปันกันใช้"นั่นเอง

ฟาโรห์หลายๆ ท่านในประวัติศาสตร์อียิปต์สามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าแบบสุดๆ หลายๆ พระองค์ทำสิ่งที่ยากแบบสุดๆ ให้สำเร็จได้ภายในช่วงระยะเวลาที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ด้วยซ้ำไป พึ่งได้รู้เกร็ดว่าพระนามของฟาโรห์จะมีชื่อของเทพเจ้าตามความเชื่อของเพแกนซึ่งเป็นที่เคารพอยู่ในช่วงนั้นๆ ด้วยเช่น รามเสสที่ ๒ ก็จะมีชื่อของสุริยเทพ "รา" อยู่ในพระนาม ตุตันคาเมน(ตุตันคามอน) ก็มีเทพ "อามอน" อยู่ในพระนามของพระองค์ และตามรูปแกะสลักก็มักจะมีพระนามของฟาโรห์สลักไว้ที่หัวไหล่ทำให้ทราบว่าเป็นรูปแกะของฟาโรห์พระองค์ใด ที่น่าทึ่งตอนที่ไปในทริปนี้ก็คือรูปแกะของฟาโรห์รามเสสที่ ๒ มหาราชนั้นมีสัดส่วนที่ถูกต้องตามหลักกายภาพได้อย่างน่าทึ่งเพราะรูปแกะของพระองค์มีขนาดใหญ่มากกะคร่าวๆ ก็น่าจะสูงไม่ต่ำว่าสิบเมตรแต่ก็ยังคงสัดส่วนไว้ได้เป็นอย่าวดีซึ่งแม้แต่สมัยนี้ให้ช่างแกะชั้นยอดทำก็ไม่อาจจะทำให้สำเร็จได้ง่ายๆ แต่นี่ย้อนกลับไปสี่พันกว่าปีทำได้ขนาดนั้นนี่ถือว่าสุดยอดมากๆ

สุสานของฟาโรห์ที่เริ่มเป็นที่นิยมมาตั้งแต่เมืองหลวงดั้งเดิม ซัคคารา(sakkara หรือ saqqara) ที่มีการพยายามสร้างปีรามิดแบบขั้นบันไดขึ้นมาโดยเอาศัยหลักการที่จำลองเอาที่นั่งตามบ้านมาเรียกขึ้นไปเป็นชั้นๆ ก่อนที่จะมาสร้างเป็นทรงแหลมอย่างที่เราคุ้นตากันในภายหลัง ซึ่งในยุคแรกที่มีการสร้างปีรามิดแบบสมบูรณ์แบบนั้นก็ได้ก่อหินขึ้นไปเป็นรูปทรงแต่เนื่องจากว่ามีการกดทับน้ำหนักลงมาตามแรงที่กระทำต่อพื้นทำให้ส่วนยอดยุบลงมาเกิดการผิดรูปร่างขึ้น จนตอนหลังมาสถาปนิกผู้ออกแบบคิดแก้ปัญหาโดยสร้างห้องภายในขึ้นเพื่อลดแรงกระทำในแนวดิ่งขึ้นมาได้สำเร็จจนมีมหาปีรามิดสามองค์ของปู่ ลูก หลาน (The Great Pyramid of Giza) ที่มีขนาดและความสูงลดหย่อนขึ้นมาตามลำดับซึ่งก็ถือว่ามีการให้เกียรติของบรรพบุรุษอยู่ด้วยเช่นกันในสมัยโน้นเพราะด้วยเหตุที่เทคโนโลยียังคงอยู่แม้จะสามารถสร้างปีรามิดของตนให้มีขนาดใหญ่กว่าก็เป็นไปได้(แต่ก็มีการหลอกตาเล็กๆ โดยการสร้างปีรามิดองค์กลางของฟาโรห์คีเฟนอยู่บนเนินทำให้ดูว่าสูงว่าของพระบิดาคือฟาโรห์คีออปส์ ปีรามิดองค์กลางนี้ยังมีร่องรอยของหินก่อนที่ทำตกแต่งอยู่ภายนอกทำให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่าในสมันตอนที่สร้างเสร็จใหม่ๆ นั้นองค์ปีรามิดมีผิวภายนอกที่มันวาวแต่เนื่องจากว่าหินอ่อนที่เอามาประดับภายนอกไม่อาจจะทนต่อลมฟ้าอากาศได้จึงอยู่มาไม่ถึงทุกวันนี้เหมือนหินภูเขาไฟที่มีความแกร่งมากกว่าเป็นโครงสร้างอยู่ภายใน)

มาถึงตรงนี้อีกแล้วเรื่องราวก็ยังไม่จบดีคงต้องมาว่ากันต่อวันหน้า...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม