วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

เมื่อต้องทำห้องดูหนังแบบบ้านๆ (นอก)

สิ่งที่สำคัญมากๆ ซึ่งไม่อาจจะขาดได้สำหรับโฮมเธียเตอร์ก็คือห้องนั่นเองเพราะถ้าปราศจากห้องดูหนังก็คงต้องเอาชุดลำโพงทีวีและ AVR ไปเปิดฟังกลางแจ้งเป็นหนังกลางแปลงส่วนตัวซึ่งก็คงจะผิดวัตถุประสงค์ที่ลงทุนซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาเพื่อมอบความสุข"ภายใน"บ้านให้กับเรา แม้ว่าระบบที่ใช้จะเป็นเพียงแค่ Dolby Prologic แต่ยังไงก็ตามห้องที่ใช้ก็คงต้องให้ความสำคัญกับมันเช่นเดียวกันซึ่งเมื่อมองไปรอบๆ บ้านแล้วก็เหลือแต่เพียงโรงรถเก่าที่นานๆ ใช้งานทีเท่านั้นที่พอจะเอามาทำห้องดูหนังฟังเพลงได้เมื่อตกลงปลงใจแล้วก็ลงทุนเอ่ยปากขอแม่ไปจนได้พื้นที่ทำห้องมาในที่สุด

ในการทำห้องดูหนังนั้นพื้นของห้องสำคัญมากๆ เพราะถ้าหากพื้นห้องอ่อนตัวแล้วขณะที่ซับวูฟเฟอร์ทำงานก็จะเกิดอาการเบสผิดปกติก็คือเสียงความถี่ต่ำจะหายบวมเบลอขาดแรงปะทะดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องเทพื้นใหม่ให้กับเจ้าโรงรถที่พื้นไม่ค่อยแน่นหนานักนี้ ขนาดคร่าวๆ ของโรงรถนี้อยู่ที่สามคูณห้าเมตรโดยประมาณแล้วก็สองเมตรครึ่งซึ่งได้สัดส่วนที่ค่อนข้างจะดีพอสมควรแต่จะให้เพอร์เฟ็คคงต้องทำห้องฟังเป็นรูปคางหมูจะเยี่ยมมากๆ เนื่องจากข้อมูลในหนังสือเครื่องเสียงที่ท่านผู้รู้หลายๆ ท่านแนะนำไว้ตรงกันก็คือสัดส่วนของห้องฟังที่ดีก็คือขนาดของด้านกว้างยาวและสูงต้องไม่สามารถหารกันลงตัวได้ พอช่างเข้ามาเทพื้นก็ได้เจอสิ่งที่นักเล่นเครื่องเสียงมักจะเจออยู่เป็นปกติก็คือความเห็นของช่างที่มักจะบอกว่าทำไปทำไมแบบนี้มันเกินความจำเป็นซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเป็นรูปแบบที่เค้ามีการแนะนำสั่งสอนต่อๆ กันมาหรือเปล่าเพราะมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้เมื่อไหร่ที่ต้องปรับปรุงห้องฟังไม่ว่าจะเป็นทางด้านก่อสร้างหรือว่าระบบไฟต่างๆ ก็จะเจอความเห็นแบบนี้อยู่เป็นประจำและมักจะพูดเหมือนกันว่า "สเป็คของที่บอกนี้มันเกินความจำเป็น" ซึ่งในฐานะนักเล่นที่ดีก็ต้องยืนยันกับพวกเขาเหล่านั้นไปว่า "ให้ทำอะไรก็ทำไปเถอะถ้าเซ้าซี้เดี๋ยวหาคนอื่นมาทำก็ได้"

หลังจากเทพื้นเสร็จสิ่งที่ต้องมาพิจารณาต่อก็คือผนังของห้องซึ่งจากที่ได้เรียนรู้อัตราส่วนซับและสะท้อนเสียงของห้องฟังต้องอยู่ที่ประมาณ 60-40 ถ้าเป็นห้องดูหนังต้อง 70-30 โดยตัวเลขที่มากกว่าก็คืออัตราส่วนของอุปกรณ์ซับเสียง เนื่องจากเบี้ยน้อยหอยน้อยก็ทำไปแบบบ้านๆ (นอก)โชคดีอยู่อย่างของการที่อยู่บ้านนอกก็คือพอจะหาไม้มาใช้บุผนังห้องได้ในราคาไม่แพงซึ่งเรื่องกรุฝาตีโครงคร่าวเพื่อกันเสียงคงไม่ต้องพูดกันก็เพราะว่าเบี้ยที่มีมันน้อยก็เอาไม้ตีเข้ากับผนังปูนกันดาดๆ เลยอาศัยหลักการที่พอมีในหัวอยู่ว่าระดับและขนาดของไม้ต้องสูงต่ำไม่เท่ากันเพื่อใช้เป็น diffusor สะท้อนความถี่แบบไม่เป็นระเบียบ โดยเฉพาะตำแหน่งที่อยู่ด้านข้างเยื้องมาข้างหน้าลำโพงและตรงกลางระหว่างลำโพงซ้ายขวา ทีนี้ปัญหาที่เจอหลังจากห้องเสร็จก็คือว่าทีวีที่ต้องตั้งอยู่กลางห้องทางด้านหน้าซึ่งเป็นรูปแบบมาตรฐานของห้องดูหนังเป็นตัวสะท้อนเสียงเป็นอย่างดีและจะส่งผลให้มิติตรงกลางในขณะฟังเพลงเกิดปัญหาเสียงพุ่งออกมามากเกินไปและทำให้มิติทางด้านลึกไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น ก็เลยต้องเอาไม้มาตีเป็น diffusor แบบบ้านๆ อีกอันเอาไว้บังทีวีขณะเปลี่ยนมาฟังเพลงซึ่งก็ทุลักทุเลพอสมควรเนื่องจากว่าตามรูปแบบมาตรฐานแล้วอุปกรณ์ต่างๆ จะต้องวางอยู่ด้านหน้ากับพื้นบนกะบะทรายที่ทำเองโดยอาศัยเศษหินอ่อนมารองฐานของอุปกรณ์ต่างๆ สี่มุมเนื่องจากไม่มีเงินมากพอจะซื้อหินอ่อนหรือแกรนิตแผ่นใหญ่มาวางลงบนทรายในกะบะ ตัวแขวนสายรวมไปถึง tiptoe ก็อาศัยช่างในพื้นที่ทำให้ในราคาคนกันเองซึ่งผลที่ได้รับก็ออกมาในทางที่ดีแต่พอเบี้ยเริ่มมีมากขึ้นเมื่อเอาของดีๆ ที่เค้าขายกันที่กรุงเทพมาเปลี่ยนแทนพบว่าอุปกรณ์ที่เค้าผ่านการวิจัยและทดลองมาแล้วให้เสียงที่ดีกว่ามากแต่อาจจะได้ความภูมิใจน้อยกว่าอุปกรณ์ทำเอง

ย้อนกลับมาในส่วนของพื้นกัน ทีแรกได้ลองเอาไม้มาตีขึ้นเป็นโครงแล้ววางแผ่นไม้ลงไปปรากฎว่าเสียงเบสมีปัญหาจึงเอาออกไปแล้วใช้พรมปูทับลงไปบนพื้นปูนแทนซึ่งก็ให้ผลที่ดีกว่าถ้ามีเบี้ยมากกว่านั้นก็คงจะเอาปาเก้มาปูแต่ก็ว่ากันไปพอสมควรกับเบี้ยที่มีอยู่ในมือที่เรียกได้ว่าใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอดีมีเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้นไม่ยอมเป็นหนี้เด็ดขาด เมื่อพื้นลงตัวทีนี้ก็มาถึงผ้าม่านที่ต้องติดตั้งอยู่ด้านหน้าและด้านหลังของห้องโดยที่เลือกให้สามารถเลื่อนปิดเปิดได้แม้ว่าจะไม่มีหน้าต่างเลยแม้แต่เพียงบานเดียวด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับเสียงล้วนๆ ตรงที่ว่าถ้าหากเสียงทึบเนื่องจากวัสดุซับเสียงมีมากเกินไปก็จะได้อาศัยเปิดเพิ่มอัตราส่วน live หรือสะท้อนของห้องให้เพิ่มมากขึ้นได้ซึ่งผ้าม่านแบบนี้ก็ตอบสนองความต้องการของผมได้เป็นอย่างดีทำให้แอบช่ืนใจลึกๆ ว่าหลักกูที่อิงกับหลักการก็พอใช้ได้เหมือนกันเนาะ

พอพื้นเสร็็จผนังเสร็จพรมปูผ้าม่านพร้อมก็คงถึงเวลาที่ต้องเอาลำโพงเข้ามาทดสอบระบบกันซึ่งก็พบว่าห้องเองก็ต้องการเวลา burn-in เหมือนกันพอใช้งานไปซักพักเสียงก็จะเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นซึ่งให้เดาก็คงจะเกี่ยวข้องกับการให้ตัวของปูนและความอยู่ตัวของแผ่นไม้ที่เข้าลิ้นกันอยู่ซึ่งผ่านไปประมาณสองสามอาทิตย์ก็เริ่มจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ถือว่าการทำห้องฟังแบบบ้านๆ นี้ได้เสร็จสมบูรณ์แล้วซึ่งประสบการณ์ในครั้งนี้ก็ได้ให้อะไรหลายๆ อย่างกับผมซึ่งถือว่าเป็นคุณค่าของการที่ได้วางแผนและได้ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ทำให้รู้สึกสนุกมีความสุขระคนกับความภูมิใจไปด้วยในขณะเดียวกัน..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม