วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

[เล่าสู่กันฟัง]weiss medea+ MAN301





ปีใหม่ปีนี้ฤกษ์งามยามดีมีเสี่ยร้านหูฟังใจดีคนนึงมอบ DAC สุดเทพมาให้ผมลองฟังถึงที่บ้านก็ขอขอบคุณมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ จริงๆ จะว่าไปแล้วพี่น้องชาว taf หลายต่อหลายท่านคงจะมีโอกาสได้ไปลองฟังที่ Jet Live Audio กันมาบ้างแล้วสำหรับ source คู่นี้ซึ่งก็คงจะประจักษ์กับความสุดยอดของมันว่าให้เสียงได้ขนาดไหนแต่คิดว่าอีกหลายๆ ท่านก็คงยังไม่เคยได้ลองก็ขอถือโอกาสมาบอกเล่าให้ฟังก็แล้วกันนะครับตามความรู้สึกที่ผมมีกับ DAC ตัวนี้

ชุดที่ใช้ทดสอบ 

หูฟัง: STAX SR-009
music server: MAN301
DAC: weiss medea+
electrostatic driver: Woo Audio WES Max พร้อมหลอด EL34 กับ Mullard ECC35(จาก พอจ. แถวๆ สาธร)
Power Amp: McIntosh MC275
ลำโพง: Manepan 1.6QR, 1.7
สายสัญญาณและสายสำโพง: Viard Audio Design
เครื่องกรองและรักษาระดับแรงดันไฟ: Clef audio puresine1000 max, Magnet IRG-2000 max







เกริ่นนำ + MAN301 impression

ส่วนตัวผมเองถือว่าเป็นคนหนึ่งซึ่งเป็นแฟนประจำของ weiss hi-end จากประเทศสวิสมานานพอสมควรซึ่งก็ค่อนข้างคุ้นและติดบุคลิกเสียงจากอุปกรณ์ของค่ายนี้อยู่บ้างพอมีโอกาสได้เพิ่มอุปกรณ์ของเค้าอีกชิ้นเข้ามาในระบบเลยรับรู้ถึงความแตกต่างได้ไม่ยากเท่าไหร่ สำหรับอุปกรณ์ของ weiss hi-end นั้นค่อนข้างจะให้เสียงที่ค่อนข้างเที่ยงตรงอยู่พอสมควรมีเติมน้ำตาลเข้าไปบ้างนิดหน่อยเพื่อช่วยลบความคมของสัญญาณดิจิตัลซึ่งส่งผลให้เสียงของอุปกรณ์ที่เรียกว่า DAC(Digital to Analog Coverter) มีความเป็นอนาล็อกอยู่มากแต่ยังไงก็ตามก็คงจะเทียบกับแหล่งปล่อยสัญญาณอนาล็อกแท้ๆ แบบเครื่องเล่นแผ่นเสียงคงไม่ได้ที่พอใครได้ฟังแล้วก็ติดอกติดใจไปตามๆ กัน ผมเองก็คนหนึ่งที่ชอบแผ่นเสียงมากๆ แต่เนื่องด้วยความสะดวกในการใช้งานก็เลยต้องเอาเครื่องเล่นแผ่นเก็บไว้ในโกดังรอเวลาเอาออกมาปัดฝุ่นใหม่เมื่อสถานที่อำนวย 

อุปกรณ์ที่นำมาต่อกับ DAC โดยปกติแล้วนักเล่นเครื่องเสียงมักจะใช้ CD Transport หรือว่า CD ใบ้(ตามภาษาผม)มาใช้ร่วมกับมันแต่รุ่นหลังๆ พอ computer audio เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นการใช้ต้นทางที่เป็นคอมพิวเตอร์และ music server ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทตรงนี้แทน CD transport ซึ่งเท่าที่ลองฟังมาผมว่าตัว music server และโปรแกรมที่ใช้เล่นเพลงจากคอมฯ ที่ออกมาช่วงหลังๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมามากๆ ส่วนจะเลือกใช้ตัวไหนก็คงอยู่ที่ความสะดวกและความชอบของแต่ละบุคคล ส่วนตัวของผมเองเนื่องจากใช้ Mac อยู่สำหรับโปรแกรมฟังเพลงนั้นผมว่า Amarra เหมาะสาวก Mac มากกว่าตัวอื่นๆ เนื่องจากใช้งานง่ายพร้อมกับทำงานร่วมกับ iTunes ได้ไม่มีปัญหาแต่ก็มีโปรแกรมอื่นๆ อีกหลายตัวที่น่าใช้เช่นเดียวกันก็ลองหาข้อมูลดูนะครับ

music server ตัวแรกที่ผมเองได้ลองฟังก็คือ AURENDER จากแดนกิมจิซึ่งก็สร้างความประทับใจให้ผมมากพอสมควรทำให้มุมมองที่ผมมีต่อ music server เป็นไปในทางที่ดีกว่าเดิมจากนั้นพอทราบข่าวว่าทาง weiss มีออก music server ที่ผนึกรวมร่างเอา DAC ตัวเก่งของเค้าออกมาจำหน่ายก็เลยเลือกที่จะเปลี่ยนรูปแบบการฟังเพลงจาก computer audio มาเป็น music server เต็มตัว ความแตกต่างระหว่าง computer audio กับ music server จากประสบการณ์ตรงก็ขอบอกว่าต่างกันมากพอสมควรที่บอกได้อย่างนี้ก็เพราะว่าภาค DAC ที่ผมใช้อยู่เดิมกับ music server ตัวใหม่นั้นใช้ ship DAC ตัวเดียวกันคือ ship ของ DICE ซึ่งผมว่าให้เสียงได้ไม่เลวเลยครับ ข้อดีของ DICE ก็คือความเป็นดิจิตัลมีไม่มากเท่าไหร่แต่ข้อเด่นน้อยของมันก็คือจะให้รายละเอียดที่ยิบยับมากมายเหมือน ship DAC Hi Res รุ่นอื่นๆ คงไม่ได้และก็คิดว่าคงไม่ใช่จุดขายของเค้าด้วย พอได้ MAN301 เข้ามาประจำการที่บ้านในช่วงแรกๆ ก็รู้สึกอึดอัดอยู่พอสมควรครับเนื่องจากตัว firmware จากมือใหม่หัดขับ music server อย่าง weiss hi-end ทำให้ระบบไม่เสถียรเมื่อใช้งานร่วมกับ NAS(Network Attached Storage) รุ่นใหม่ๆ ที่มี OS ในตัวซึ่งพอได้แจ้งข้อมูลไปทางผู้ผลิตจากนั้นไม่กี่วัน FW ตัวใหม่ก็ถูกปล่อยออกมาให้ได้ใช้ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณคุณเจ็ท Jet Live Audio กับคุณกิตติคุณ Discoveryhifi ที่ช่วยประสานงานให้ด้วยครับ






การใช้งานของ MAN301 นั้นควบคุมผ่าน iPad ทำให้เลือกเพลงและจัด playlist ได้สะดวกง่ายดายผ่าน app ที่ชื่อว่า Weiss-MAN แต่สำหรับคนที่ติดรูปแบบการใช้งาน computer audio แบบผมต้องปรับตัวกันบ้างพอสมควรซึ่งจะขอผ่านในส่วนของการใช้งานและข้อมูลทางเทคนิคออกไปนะครับเนื่องจากว่าคงจะหาอ่านกันได้ไม่ยากตรงนี้อยากจะเล่ามุมมองของผู้ใช้งานมากกว่าเป็นรีวิวแบบเต็มรูปแบบ การเล่นเพลงเดียวกันผ่านอุปกรณ์สองชิ้นทั้งๆ ที่ใช้ DAC ship ตัวเดียวกันเพียงแต่ปรับปรุงอุปกรณ์บางอย่างเข้าไปและลดขั้นตอนการส่งผ่านข้อมูลให้สั้นลงจาก Hard drive ผ่าน motherboard ของคอมไปยัง DAC ไม่น่าเชื่อว่าจะให้ความแตกต่างของเสียงได้มากพอสมควรเลยทีเดียว 

ตามหลักการส่งผ่านข้อมูลดิจิตัลไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อแบบไหนไม่น่ามีผลอะไรกับเสียงแต่ในการใช้งานจริงๆ เท่าที่สัมผัสมาพอว่ามีความต่างกันอยู่พอสมควรครับ แต่จะด้วยเหตุใดนั้นคงมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกันรวมไปถึง human error และอคติส่วนตัวด้วยซึ่ง คหสต. ผมไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องพวกนี้มากนักขอให้ฟังแล้วถูกใจและคุ้มกับที่ได้ลงทุนไปก็ถือว่ากำไรแล้ว ความแตกต่างของเสียงระหว่าง DAC ตัวเดิมคือ weiss DAC202 กับ MAN301 เท่าที่พอจะฟังออกได้ก็คือความลื่นไหลของเสียง รายละเอียด มิติ เวที พร้อมกับไดนามิคประเภทต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดซึ่งก็พบว่าการเชื่อมต่อต่างรูปแบบกันให้เสียงที่แตกต่างกันแม้กระทั่งการส่งผ่านข้อมูลเดียวกันผ่านอุปกรณ์ต่างชนิดเช่น USB กับ NAS ก็ให้เสียงที่แตกต่าง ในทางเทคนิคแล้วผมไม่ทราบว่าตัวไหนดีกว่า(อาจต้องรบกวนคุณ WindowsX มาช่วยให้ความรู้เพิ่มเติม)แต่ตอนนี้ส่วนตัวรู้สึกพอใจและใช้เฉพาะการส่งผ่านข้อมูลจาก NAS ผ่านสาย LAN เข้ามายังเครื่องมากกว่าการส่งข้อมูลผ่านทางสาย USB ถ้าใครมีอุปกรณ์ที่สามารถให้เราเลือกใช้การส่งผ่านข้อมูลได้หลายๆ แบบลองสลับฟังเทียบกันดูก็ดีนะครับอาจจะเจอแบบที่ผมเจอก็ได้ว่าบางอย่างที่เราไม่เคยคิดจะเลือกใช้กลับให้อะไรที่มากกว่าในทางที่ดีขึ้นได้ 

MAN301 เล่นไฟล์เสียงที่เป็นที่นิยมในท้องตลาดได้ทุกแบบทั้ง FLAC AIFF WAV mp3(ไม่แน่ใจเรื่อง ape เพราะไม่มีไฟล์ทดสอบ) อีกทั้งยังสามารถเล่นและ rip เพลงจาก CD โดยตรงลงไปใน hard drive ในตัวซึ่งทำให้ผู้ที่นิยมสะสม CD เพลงสามารถใช้เจ้าตัวนี้แทน CD player ได้เลย(ขอบอกว่าพอ rip ไฟล์จาก CD เก็บไว้แล้วคุณอาจจะไม่ได้แกะ CD แผ่นนั้นออกมาจากกล่องอีกก็เป็นได้ครับ) จุดเด่นของ MAN 301 ซึ่งก็ยังคงรักษาสิ่งที่ผมชื่นชอบเจ้า DAC ตัวจ้อย 202 เอาไว้ด้วยก็คือความน่าฟังของเสียงดนตรีและความต่อเนื่องของเสียงย่านต่างๆ สำหรับผมนั้นถ้าใครที่เรียกตัวเองว่าเป็น music lover แล้วคิดจะหา music server มาใช้งานแล้วละก็น่าจะหาโอกาสไปลองฟังเจ้าตัวนี้ประกอบการตัดสินใจดูด้วยก็น่าจะดีครับ เสียงอาจจะไม่ติดหูในทันทีทันใดแต่ลองใช้เวลากับมันสักพักใหญ่ๆ ฟังเพลงที่เราคุ้นเคยดูเมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายไปกับ CD transport บวกกับ DAC อีกตัวในระดับราคาเท่าๆ กันในท้องตลาดในตอนนี้ผมคิดว่าหา DAC ตัวไหนดีกว่า MAN 301 ยากเหมือนกันนะ







ความประทับใจแรกกับ weiss medea+:หลังจากที่ไปรับ DAC medea+ มาแล้วผมเลือกใช้การเชื่อมต่อสัญญาณดิจิตัลออกมาจาก MAN301 ที่ทำหน้าที่เป็นต้นแหล่งปล่อยข้อมูลดิจิตัลผ่านสาย AES/EBU ของ Viard Audio Design สลับกับ PAD Venustas ไปยัง medea+ ซึ่ง DAC ตัวนี้มีข้อต่อ digital in ให้มาแบบค่อนข้างครบครันครับรวมไปถึงขั้วต่อสัญญาณแบบ thunderbolt ซึ่งทาง apple เองใช้ในคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ที่พึ่งออกมาเสียดายที่ไม่มีสายต่อ thunderbolt ไม่อย่างนั้นคงจะได้ทดสอบดูว่าขั้วต่อแบบใหม่จากฝั่ง apple นั้นจะมีดีขนาดไหนในการส่งผ่านสัญญาณเสียงเมื่อเทียบกับอย่างอื่นซึ่งเป็นที่นิยมในตลาด 

ในช่วงแรกที่ทดลองฟังนั้นผมเลือกใช้ชุดหูฟังเป็นหลักเนื่องจากว่าถ้าจะฟังแบบจับจุดเด่นมองหาความแตกต่างแล้วหูฟังสามารถแยกแยะได้ดีและง่ายกว่าลำโพงอยู่พอสมควร พอเปิดฟังในช่วงแรกสิ่งที่ต่างจากเสียงที่เคยฟังผ่าน MAN301 ก็คือบุคลิกที่ค่อนข้างจะเอนเอียงไปทางอุปกรณ์รุ่นสร้างชื่อไปในวงกว้างของ weiss ที่ไม่ใช่อุปกรณ์ในสตูดิโอก็คือ DAC รุ่น minerva ซึ่งให้เสียงที่สดชัดและค่อนข้างเที่ยงตรง แต่ที่ไม่เหมือนกันนักก็คือ medea+ มีกลิ่นอายของความเป็นอนาล็อคเจืออยู่ตรงนี้ทำให้น้ำเสียงของ medea+ เมื่อใช้ร่วมกับ MAN 301 นั้นลื่นไหลน่าฟังมากกว่า อย่างที่ได้บอกไว้ครับว่าจุดเด่นน้อยของ DICE สำหรับผมนั้นก็คือเรื่องของรายละเอียดซึ่งแม้ว่าพอเปลี่ยนจาก DAC202 มาเป็น MAN301 ที่ได้รับการปรับปรุงมาแล้วตรงส่วนนี้ดีขึ้นแต่เมื่อเทียบกับ DAC Hi-res ตัวอื่นๆ ที่มีในตลาด MAN301 อาจจะเด่นน้อยกว่า แต่พอเปลี่ยนมาต่อร่วมกับ medea+ นั้นเรื่องของรายละเอียดกลายเป็นจุดแข็งขึ้นมาทันที ความสงัดของพื้นเสียงดีมากครับการแยกแยะเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ออกมาอย่างยอดเยี่ยมตรงนี้ถือว่าเป็นความประทับใจแรกสำหรับผมเลยก็ว่าได้


เวทีเสียง มิติ บรรยากาศ ความเป็นดนตรี: DAC เสียงสะอาดๆ มักจะมีข้อได้เปรียบในเรื่องของรายละเอียดและการนำเสนอตำแหน่งของเครื่องดนตรี DAC ตัวนี้ก็เช่นเดียวกันครับการวางตำแหน่งของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นนั้นแน่นอนมาก หลังจากที่ผมใช้เวลากับมันอยู่พอสมควรกับชุดหูฟังเริ่มรู้สึกว่ามันยังไม่มีอะไรที่มากกว่านั้นซ่อนอยู่จากเสียงที่ได้ยินเลยลองสลับเอาชุดลำโพงที่ปกติใช้เป็นคู่หลังสำหรับชุดดูหนังมาต่อร่วมดูถึงได้รู้ว่าจุดที่รู้สึกว่าไม่สุดนั้นคือเรื่องของเวทีและมิติ อย่างที่ทราบกันครับว่าจุดเด่นน้อยของหูฟังเมื่อเทียบกับลำโพงคือการนำเสนอตำแหน่งเวทีและมิติเสียงที่ให้แบบลำโพงไม่ได้แต่หลายๆ อย่างเช่นเรื่องของรายละเอียดลำโพงก็ให้ได้ไม่เท่ากับหูฟังยกเว้นลำโพงในระดับราคาสูงๆ ที่ผ่านการตั้งตำแหน่งมาอย่างดี 

แม้ว่า SR-009 ให้เวทีและมิติเสียงดีกว่าหูฟังแทบจะทุกรุ่นที่มีในตลาดยกเว้นเทพของหูฟังอย่าง Orpheus พอสลับเอาชุดลำโพงมาทดสอบทำให้รู้ว่าเวทีที่กว้างและลึกมากๆ นั้นเป็นอย่างไร จะว่าไปแล้ว MAN301 ก็ให้ตรงนี้ได้ดีแต่เมื่อเทียบกับ DAC รุ่นพ่ออย่าง medea+ ทำให้ส่วนที่ดีกลายเป็นด้อยไปได้เหมือนกันเพลงหลายๆ เพลงที่คุ้นหูเมื่อเอามาฟังใหม่กับ medea+ ทำให้รู้สึกเหมือนเอามาทำดนตรีใหม่ ผมไม่แน่ใจว่าในตัว medea+ มีภาคที่ใช้ upsampling อยู่ในตัวหรือไม่เนื่องจากไม่ได้ไปค้นดูข้อมูลทางเทคนิคแต่พอฟังแล้วรู้สึกเหมือนเพลงปกติ 44.1/16 ธรรมดานั้นเสียงเหมือน 192/24 ซึ่งให้เสียงที่สดและชัดขึ้นแต่ก็ไม่รู้สึกว่าเสียงคมขึ้นขอบแต่อย่างใด ปกติส่วนของของผมเองเมื่อเจอ DAC ที่สดชัดและให้เสียงที่ค่อนข้างเที่ยงตรงมักจะฟังได้ไม่นานเพราะกัดหูแต่ medea+ นี่ฟังได้เรื่อยๆ ไม่รู้สึกล้า ให้ความรู้สึกประมาณว่าฟังเพลงที่นักดนตรีชั้นยอดตั้งใจเล่นกันแบบเป๊ะไม่มีหลุดแต่ก็คงให้อารมณ์เพลงที่ดีมากๆ อยู่ด้วย มาถึงตรงนี้แล้วอยากจะบอกว่า DAC ตัวนี้ขี้ฟ้องจริงๆ ครับ





เสียงสูง กลาง ต่ำ: ใครอยากจะทราบว่า DAC ที่ให้เสียงย่านสูงได้เยี่ยมๆ ซักตัวนึงเป็นอย่างไรแนะนำให้ไปลองฟัง medea+ ดูครับถือว่าเป็น DAC ที่ให้มาตรฐานสำหรับเสียงสูงคุณภาพได้เลย เสียงเครื่องดนตรีโลหะที่นอกจากไดนามิคความสดความแผดของเสียงจะเป๊ะมากแล้วเรโซแนนซ์ปลายเสียงนี่ออกมายาวและพริ้วมาก ย้อนหลังไปเมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อนสมัยที่หาความรู้เรื่องความแตกต่างระหว่าง CD กับแผ่นเสียงได้เจอแผ่นหนึ่งที่ให้นิยามตรงนี้กับผมได้ดีมากก็คือแผ่น direct-to-disc ของ Lincoln Mayorga และ Amanda Mcbroom ชุด Growing up in Hollywood Town แทร็คที่ชื่อเพลงว่า dusk ผมว่าเสียง triangle ที่เคาะตอนต้นเพลงนั้นยังไง CD ก็ให้เสียงแบบแผ่นไม่ได้แต่พอได้มาฟัง medea+ แล้วรู้สึกว่าในเรื่องของความพริ้วและกังวานนั้นใกล้เคียงเสียงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงมากๆ ครับ 

เสียงกลางของ medea+ นั้นออกแนวสมจริงมากกว่าที่จะฉ่ำหวาน บางเพลงที่อัดมาแบบสดๆ เช่นชุด Secret Island ของค่าย Clarity records ที่มีจุดเด่นตรงที่ใช้ mic สองตัวในการบันทึกเสียงจังหวะนักร้องแกว่งตัวไปมาตอนที่ปิดไฟฟังดูรู้สึกน่าขนลุกดีจริงๆ หลายต่อหลายเพลงที่อัดมาแบบสดๆ จากหลากค่ายเพลงที่ผมเองเลือกมาลองเวลาทดสอบเครื่องเนื่องจากเสียงกลางเป็นเสียงที่ผมค่อนข้างคุ้นอยู่แล้วโดยเฉพาะเสียงคนพูดหรือร้องเพลงโดยที่ไม่ได้แต่งเสียงเพิ่มจะพอบอกได้ว่า DAC ตัวนั้นๆ ให้เสียงออกมาได้ถูกต้องเที่ยงตรงแค่ไหน ในความเข้าใจของผมนิยามของเสียงดีก็คือเสียงจริงๆ เป็นอย่างไรก็สมควรจะออกมาได้ใกล้เคียงของจริงมากเท่านั้น

เสียงต่ำของ medea+ เร็วและให้รายละเอียดที่ดีครับ ฟังจากหูฟังก็บอกได้ในระดับหนึ่งว่าเสียงเบสของ DAC ตัวนี้ดีมากแต่เนื่องจากปริมาณเบสของหูฟังและลำโพงที่ผมใช้ค่อนข้างจะออกมาแบบให้คุณภาพแต่ปริมาณไม่ค่อยมากนักซึ่งตรงนี้คงจะบอกอะไรได้ลำบากพอสมควรสำหรับใครที่ชื่นชอบเสียงในย่านความถี่ต่ำ แต่ถ้าเน้นเอาคุณภาพเรื่องของความถูกต้องของหนังกลองหลากหลายประเภทจากทุกภูมิภาคเช่นกลองพื้นเมืองแอฟริกัน กลองใหญ่ญี่ปุ่น ทิมปานีของออเครสตร้าวงใหญ่ตั้งแต่เบสช่วงบน กลางและต่ำลึกๆ เท่าที่ผมเลือกมาทดสอบถือว่าเยี่ยม ยิ่งพอต่อซับร่วมกับลำโพงคู่หลักด้วยแล้ว(XLR เข้าลำโพงหลัก RCA เข้าซับ)ถือว่าเทพจริงครับเบสมาครบมากในทุกย่าน






สรุป weiss medea+: ผมเองได้ใช้เวลาอยู่กับ DAC ตัวนี้ประมาณครึ่งเดือนซึ่งถือว่าค่อนข้างนานพอสมควรได้ลองสลับสับเปลี่ยนสายและอุปกรณ์ต่อร่วมไปมาอยู่ระยะหนึ่งซึ่งทำให้ได้ทราบว่าพอเปลี่ยนอะไรนิดอะไรหน่อยในระบบก็มีผลกับเสียงที่ออกมา จากที่ได้ทดลองฟังในชุดหูฟังในช่วงแรกเปลี่ยนมาเป็นลำโพง maggie 1.6QR ในช่วงที่สองจนมาสรุปที่ 1.7 ในช่วงสุดท้ายพบว่าเสียงมีการพัฒนาดีขึ้นมาเป็นลำดับๆ เมื่อฟังมาระยะหนึ่งเหมือนชุดฟังเพลงที่ผมใช้อยู่นั้นรีดศักยภาพของ medea+ ออกมาได้ไม่หมด จะเรียกว่าไม่แมทช์กันก็คงจะไม่ใช่เพราะชุดเดิมก็ให้เสียงที่ค่อนข้างลงตัวอยู่แล้วยิ่งฟังไปก็รู้สึกเหมือนกับว่ามันยังไปได้อีก 

medea+ เป็น DAC ที่ค่อนข้างครบเครื่องครับทั้งการเชื่อมต่อเข้า-ออก การเล่นไฟล์เพลงในรูปแบบต่างๆ การออกแบบและน้ำหนักที่มากพอสมควรทำให้ความนิ่งในการจัดวางดีมากๆ เสียงที่ตอบสนองได้ค่อนข้างครบสำหรับคนที่เสาะแสวงหาความสุดยอด คงไม่มีอะไรจะบอกในตรงนี้มากนักนอกจากกว่า "medea+ จะให้เสียงออกมาได้ดีมากแค่ไหนคงขึ้นอยู่กับระดับของซิสเต็มที่นำเข้าไปต่อร่วมด้วย" ประมาณที่ฝรั่งเค้าบอกว่า Sky is a limit ถ้าใครอยากจะลองฟัง Source คู่นี้ที่ผมว่าสุดยอดของ source ชุดหนึ่งในโลกนี้ก็ลองไปฟังที่ร้าน Jet Live Audio ดูได้ครับผม 


สุดท้ายนี้ขอขอบคุณคุณเจ็ท Jet Live Audio มากๆ ครับสำหรับ"น้ำใจ"ในการช่วยเหลือผมในหลายๆ เรื่องในช่วงนี้ซึ่งผมว่าตอนนี้บ้านเมืองเรากำลังขาดสิ่งนี้อยู่ ถ้ามี"น้ำใจ"ให้แก่กันและกันแล้วผมว่าประเทศชาติคงจะพัฒนาไปได้อีกไกลมากๆ หลังๆ มานี้ผมรู้สึกเหมือนกับว่าคนไทยยอมกันไม่ได้รอกันไม่เป็นเลยทำให้เกิดปัญหาในบ้านเราเมืองเราในหลายๆ ระดับตั้งแต่ปัญหาการจราจรไปจนถึงปัญหาการพัฒนาบริหารบ้านเมืองที่ดูเหมือนว่าต่างฝ่ายต่างไม่ยอมถอยให้กัน นี่ก็เริ่มปีใหม่แล้วก็หวังว่าสิ่งดีๆ คงจะเกิดมีแก่บ้านเมืองเราให้มากกว่าที่ปีที่ผ่านๆ มา 

"ขอให้ทุกท่านโชคดีและมีความสุขในการฟังเพลงในปีใหม่นี้นะครับ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม