วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ว่าด้วยอวตาร

ได้ฟังเด็กอายุสิบขวบเล่าเรื่องอวตารให้ฟังหลังจากได้ดูมาแล้วสิบกว่ารอบทำให้นึกถึงตัวเองสมัยเด็กๆ ก่อนโน้นไม่มีอะไรให้ต้องมาสนใจมากนักนอกจากหนังที่ต้องไปหาเช่ามาดูทุกวันหยุด ถ้าเรื่องไหนดูแล้วชอบก็มักจะเอาไปเล่าให้เพื่อนร่วมห้องที่โรงเรียนฟังเพราะคิดว่าในรุ่นเดียวกันที่โรงเรียนคงไม่มีใครได้ดูหนังมากเท่ากับเราอีกแล้ว แต่ที่ต่างกันกับการฟังสาวน้อยคนนี้เล่าเรื่องอวตารให้ฟังก็น่าจะเป็นเรื่องของข้อมูล เด็กน้อยมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลของหนังมากกว่าเราในสมัยโน้นเยอะมากโดยที่ไม่ต้องดิ้นรนอะไรนักส่วนตัวก็มีหน้าที่สรุปให้เด็กแค่นั้นเองว่าเรื่องนี้สอนอะไรให้เค้าได้มั่ง

จะว่าไปอวตารมีรายละเอียดเยอะมากพอสมควรในหลายๆ องค์ประกอบล่าสุดได้คุยกับนักอบรมท่านหนึ่งเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้เค้าก็บอกว่าดูไปแล้วได้ไอเดียเยอะเลยในการอบรมการพูดหรือว่าการเขียนที่สำคัญท่านก็บอกว่าคนเขียนบทมีพื้นฐานในการฝึกคนพอสมควรเลยทีเดียวหรือไม่ก็ทำการบ้านมาดี รู้จักไล่ขั้นตอนการพัฒนาคนไปตามลำดับและที่สำคัญในการสานสัมพันธ์ระหว่างชาวโอมาติกาย่าในเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายไล่จากพ่อแม่คนรักเพื่อนครูและสังคมรอบตัวของแต่ละคนซึ่งเป็นแกนหลักที่จะบอกความเข้มแข็งของสังคมนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง"ความเข้มแข็งทางความคิดที่ต้องอาศัยเกราะจากบุคคลรอบตัวเป็นสำคัญ"

อวตารมีมุมประกอบของภาพสวยงามมุมกล้องต่อเนื่องไม่ขัดสายตาและอารมณ์ ผู้กำกับภาพเองรู้ว่าควรจะแพนกล้องไปทางไหนในจังหวะใด การดึงภาพเข้าออกเพื่อเสริมบทภาพยนตร์ก็ลงตัวพอดี คหสต.นอกจากสปิลเบิร์กแล้วคาเมรอนเป็นผู้กำกับอีกท่านที่รู้ว่าผู้ชมอยากจะดูภาพแบบไหนเรื่องราวแบบใดดังนั้นภาพยนตร์แต่ละเรื่องของเค้าจึงเป็นหนังทำเงินแทบทุกเรื่องแม้บางเรื่องจะถูกนักวิจารณ์สับเละก็ตามแต่ยังไงก็ยังได้เงิน เรียกได้ว่าเป็นผู้กำกับที่รู้ว่าควรจะ"ทำหนังยังไงให้ได้ทั้งเงินและกล่อง"

ด้วยลีลาของบทภาพยนตร์ที่ลื่นไหลมีการไล่ลำดับที่ดีเด็กน้อยที่มาเล่าให้ฟังเค้าเล่าด้วยแววตาที่ชื่นชอบมาก เล่าไปก็มีประกายในดวงตาใสๆ ให้ได้เห็นอยู่ตลอดที่สำคัญด้วยวัยที่กำลังจำเด็กน้อยอุตส่าห์จำภาษานาวีได้ด้วย ฟังเค้าเล่าไปก็ขำไปเพราะเหมือนกับกำลังมองเห็นตัวเองอยู่ก็หวังว่าคุณพ่อคุณแม่คงจะรู้จักเลือกหนังดีๆ ให้น้องเค้าได้ดู ที่น่าประทับใจอีกอย่างก็คือเด็กคนนี้อ่านหนังสือเป็นตรงนี้ขอชื่นชมคุณพ่อคุณแม่ที่รู้จักหาหนังสือดีๆ ให้เค้าอ่านตรงนี้เองที่เด็กคนนี้โชคดีกว่าตัวเราที่ไม่มีคนคอยเลือกหนังสือให้ พื้นฐานครอบครัวและสังคมรอบตัวมีผลตรงนี้แหละในการปูพื้นฐานความคิดให้กับลูกหลานเช่นเดียวกันกับการพัฒนาตัวละครเจค ซัลลี่ในหนังอวตารจากเด็กที่เล่นไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้เรื่องราวอะไรมากนักพอเจอพี่เลี้ยงที่เจ๋งอย่างนาร์เทียรี่ก็สามารถกลายมาเป็นผู้นำของชาวนาวีได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือน ความสัมพันธ์กันในเชิงระบบของตัวละครทุกตัวในอวตารสามารถนำมาเป็นวิทยานิพนธ์ในเชิงสังคมหรือมนุษยวิทยาได้ไม่ยากถ้าจะว่าไป เพียงแต่ว่าเรื่องจริงก็คือเรื่องจริงเรื่องเล่นก็คือเรื่องเล่นแต่ถ้ารู้จักมองเราเองก็สามารถเอา"เรื่องเล่นๆ มาพัฒนาตัวเองในความเป็นจริงได้"เช่นกัน ผมคิดอย่างนี้นะ..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม